วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

การใช้สารสกัดจากพืชควบคุมแมลงศัตรูพืช

            ในการอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนประชากรของแมลงศัตรูธรรมชาติที่มีประโยชน์ให้เพิ่มขึ้น  ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและหันมาใช้สารสกัดจากพืชชนิดต่างๆที่หาได้ง่ายและพบได้ทั่วๆไปมาใช้ทดแทน  โดยที่การใช้สารสกัดจากพืชนั้นก็มีผลในการทำลายแมลงที่เป็นประโยชน์  พวกตัวห้ำ-ตัวเบียนด้วย  แต่มีความเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อมน้อยกว่าสารเคมี  เนื่องจากความเป็นพิษมีการสลายตัวได้รวดเร็วไม่ตกค้างในดินนาน  โดยมีวิธีการในการสกัดใช้เองที่ไม่ยุ่งยาก  จากงานทดลองของกองวัตถุมีพิษการเกษตรและสำนักวิจัยและพัฒนาการผลิตสารธรรมชาติ  กรมวิชาการเกษตรได้แนะนำวิธีการใช้เอาไว้ดังนี้

1.  สะเดา



           สารสกัดที่พบในสะเดามีฤทธิ์ในการป้องกันกำจัดแมลง  ได้แก่  สารอะซาดิแรคติน (Azadiractin A)  ที่มีอยู่มากในเนื้อเมล็ด  โดยจะมีผลในการยับยั้งการลอกคราบของแมลง  ยับยั้งการวางไข่  และเป็นสารไล่แมลงใช้ได้ผลดีกับหนอนชนิดต่างๆ  เช่น  หนอนเจาะยอดกะหล่ำ  หนอนกระทู้หอม  หนอนกระทู้ผัก  เพลี้ยอ่อน  เพลี้ยจักจั่น  และเพลี้ยไก่แจ้  สำหรับเพลี้ยไฟ  และไรแดงใช้ได้ผลปานกลาง
วิธีการใช้
-          เมล็ดสะเดาที่ผึ่งแห้งมาบดหรือตำในอัตรา  1  กิโลกรัม  ผสมน้ำ 20 ลิตร  ทิ้งไว้ 1-2 คืน  แล้วกรองเอากากออก  นำสารสกัดที่ได้ไปฉีดพ่น
-          ใบสะเดาแห้งบดให้ละเอียดคลุกเมล็ดข้าวโพด  ใช้อัตรา 1:10  โดยน้ำหนักเพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูในโรงเก็บเมล็ดพันธุ์  เช่น  มอดแป้ง  ด้วงงวงถั่ว  ผีเสื้อข้าวเปลือก  ด้วงงวงข้าวโพด
-          ใบสะเดาแก่ใบสด  อัตรา 2 กิโลกรัม  ตำให้ละเอียดหักในน้ำ 10 ลิตร  ทิ้งไว้ 2 คืน  กรองเอากากออกแล้วนำไปฉีดพ่น

การใช้สะเดาปราบศัตรูพืช

2.  โล่ติ๊น


        สารสกัดที่ได้จากโล่ติ๊นหรือหางไหลมีผลในการป้องกันกำจัดแมลงและเบื่อปลาทำให้ปลาสลบได้  โดยไม่มีพิษต่อคน  ได้แก่  สารโรติโนน  ซึ่งพบปริมาณในส่วนรากของต้นหางไหล  โดยสารโรติโนนจะออกฤทธิ์เหมือนสารกำจัดแมลงชนิดไม่ดูดซึมเข้าสู่ต้นพืช (non-systemic insecticide)  ออกฤทธิ์เป็นพิษโดยการกินหรือโดยการสัมผัส  สารโรติโนนมีผลโดยตรงกับระบบการทำงานของไมโตคอนเดรีย  ซึ่งอยู่ภายในเซลล์ของร่างกาย  โล่ติ๊นสามารถนำมาใช้ในการป้องกันกำจัดแมลงได้หลายชนิด  ได้แก่  แมลงวัน  เพลี้ยอ่อน  ด้วงงวงถั่ว  ตั๊กแตน  ตัวอ่อนเพลี้ยจักจั่นฝ้าย  หนอนกระทู้ผัก  และหนอนใยผัก
วิธีการใช้              
                 นำส่วนของรากหรือลำต้นของโล่ติ๊นที่มีอายุ 2-3 ปี  มาบดหรือตำให้แหลกละเอียด  โดยใช้รากหรือลำต้น 0.5-1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร  ร่วมกับการใส่กากน้ำตาล 100 กรัม  เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพของสารสกัดให้ดียิ่งขึ้น  หมักทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน  ในระหว่างหมักควรใช้ไม้กวน 3-4 ครั้ง  เมื่อครบ 2 วัน  นำมากรองและนำน้ำสกัดที่ได้ไปฉีดพ่นป้องกันกำจัดแมลงได้  ข้อควรระวัง  คือ  ไม่แนะนำให้ใช้กับแปลงผักหรือไม้ผลที่มีบ่อเลี้ยงปลาอยู่ใกล้ๆ  เช่น  แปลงที่ขุดเป็นร่องน้ำล้อมรอบแล้วเลี้ยงปลาไว้  นอกจากนี้ยังทำลายแมลงที่มีประโยชน์พวกด้วงเต่าตัวห้ำด้วย

3.  สาบเสือ (Eupatorium odoratum L.)



               สารที่ออกฤทธิ์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชที่พบในสาบเสือ  ได้แก่  Pinene, limonene  และ nepthaquinone ซึ่งพบทั้งในส่วนของดอกและในใบ  แต่ในใบมีปริมาณสารมากกว่าในดอก  ใช้ได้ผลกับหนอนชนิดต่างๆ  เช่น  หนอนใยผัก  หนอนกระทู้ผัก  เพลี้ยอ่อน  และด้วงเขียว
วิธีการใช้
                นำส่วนของงใบสาบเสือแห้ง  400  กรัม  ตำให้ละเอียดผสมกับน้ำ  3  ลิตร  ต้ม 10 นาที  ทำให้เย็นแล้วกรองเอากากทิ้ง  แล้วนำไปฉีดพ่นในแปลงมะเขือเปราะ  สามารถกำจัดเพลี้ยอ่อนได้ดีและพ่นในแปลงผักสามารถป้องกันหนอนกระทู้ผักได้ดี



ที่มา : เอกสารอ้างอิง:จิราพร  เพชรรัตน์. 2547. การจัดการสวนไม้ผลให้ปลอดภัยต่อชีวิต (ผู้ผลิตและผู้บริโภค) และสิ่งแวดล้อม. เอกสารประกอบการอบรม  โครงการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี  คณะทรัพยากรธรรมชาติ  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา.
          http://share.psu.ac.th/blog/marky12/14470

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น