วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

การหมักเบียร์


เบียร์ (beer)


เบียร์ เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (alcoholic beverage) ที่ได้จากการหมัก (fermentation)
       วัตถุดิบหลักในการผลิตเบียร์ คือมอลต์(malt)  ยีสต์(yeast) ฮอพ (hop) และน้ำ  มอลต์ ได้จากการนำเมล็ดธัญพืช (cereal grain) เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี (wheat)  ที่เพาะให้งอก (malting)  ระหว่างการงอก จะเกิด เอนไซม์ ย่อยสตาร์ซ (starch) ให้มีโมเลกุลเล็กลง เป็นน้ำตาลแล้วจึงนำหมักด้วยยีสต์  ให้เกิดแอลกอฮอล์ ก่อนการหมักมีการเติมฮอพ (hop) เพื่อให้กลิ่นและรสขมของเบียร์


 กระบวนการผลิตเบียร์



  • การเตรียมข้าวมอลต์ (malting)

          การผลิตมอลต์(malt) เรียกว่า malting เริ่มด้วยการเมล็ดธัญพืช(cereal grain)  มาแช่ให้ดูดน้ำ (steeping) แล้วปล่อยให้งอกเป็นต้นอ่อน(germination)  ระหว่างการงอก เมล็ดพืชจะสร้างเอ็นไซม์ (enzyme) เช่น อมัยเลส (amylase) ซึ่งจะเปลี่ยน สตาร์ซ (starch) ให้มีโมเลกุลเล็กลง เช่น มอลโตส (maltose ) กลูโคส (glucose) จากนั้นจึงหยุดการงอกด้วยการต้ม


ปริมาณและคุณภาพของมอลต์มีต่อ ปริมาณอัลกอฮอล์ สีกลิ่น รส และเนื้อสัมผัส ซึ่งอาจเรียกว่า body ของเบียร์ การใช้ปริมาณมอลต์มากทำให้ได้เบียร์ที่มีปริมาณอัลกอฮอล์สูง มอลต์ที่ผ่านการคั่ว (roasting) มาก่อนจะได้เบียร์ที่มีสีเข้ม และมีกลิ่นรสเฉพาะ

  •  การผสม การเตรียมเวอร์ต 

          ข้าวมอลต์ ที่บดแล้วจะผสมกับน้ำ ในช่วงนี้เอนไซม์(enzyme) ในข้าวมอลต์จะทำงาน โดย เอนไซม์โปรติเอส (protease) จะย่อยโปรตีน (protein) ให้เป็นกรดอะมิโน(amino acid)  และเอนไซม์อมัยเลส (amylase) จะย่อยสตาร์ซ (starch) ได้เป็นของเหลวที่มีรสหวาน เรียกว่า เวอร์ต (wort) หากการย่อยได้น้ำตาลมาก เมื่อนำไปหมักก็จะได้แอลกอฮอล์สูง อุณหภูมิการผสม มีผลต่อปริมาณแอลกอฮอล์และรสชาติของเบียร์ การเตรียมเวอร์ตที่ อุณหภูมิสูง ทำให้เอนไซม์ อัลฟาอมัยเลส ทำงาน ได้ดี กว่า เบต้าอมัยเลส  (ดู amylase )จะได้เด็กตรินสูง เมื่อนำไปหมักจะได้แอลกอฮอล์ต้ำ แต่ที่ อุณหภูมิต่ำ ได้น้ำตาลมากเมื่อนำไปหมักจะได้แอลกอฮอล์สูง  ในช่วงนี้จะมีการเติม ฮอพ (hop) เพื่อให้เกิดรสขมและกลิ่นรสเฉพาะของเบียร์

คลิปการหมักเบียร์
  •  การหมัก (fermentation)

      หมัก wort ด้วยยีสต์ในถังหมัก (fermenter) เพื่อให้ยีสต์เปลี่ยนน้ำตาล ให้เป็นเอทธิลแอลกอฮอล์และคาร์บอนไดออกไซด์


  • ชนิดของยีสต์ที่ใช้หมักเบียร์


Top yeast ยีสต์ที่หลังการหมัก ลอยตัวเป็นกลุ่มอยู่ที่ผิวหน้าของเบียร์ เช่น Saccharomyces cerevisae ใช้ผลิตเบียร์  ale
 Bottom yeast ยีสต์ที่หลังการหมักจะตกตะกอนอยู่ก้นถังหมัก  เช่น Saccharomyces calsbergensis  ใช้ผลิต lager beer  
การทำให้ใส (clarification)

หลังจากหมักเบียร์ ได้ปริมาณแอลกอฮอล์ตามต้องการ นำมาบ่มในห้องเย็นเพื่อให้ ยีสต์ และโปรตีน ตกตะกอน (sedimentation)  แล้วจึงกรอง (filtration) ให้ใส อาจใช้ plate and frame filter หรือการกรองด้วยเยื่อ (membrane filtration) หรือเหวี่ยงแยก (centrifuge)

การทำให้เบียร์ใสอาจมีการใช้สารช่วยก่อตะกอน เช่น isinglass


  • การพาสเจอไรซ์ (pasteurization)
  • การบรรจุ (packaging)   
 เบียร์อาจบรรจุในกระป๋อง อลูมิเนียม หรือขวดแก้ว สีเขียวหรือสีชา ปิดด้วยฝาจีบ





ที่มา : http://www.foodnetworksolution.com/vocab/wordcap/%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%8C
http://www.clipmass.com/movie/838844571306867

การผสมเทียม (Artificial Insemination)




      การผสมเทียม คือ การทำให้เกิดการปฏิสนธิในสัตว์โดยไม่ต้องมีการร่วมเพศตามธรรมชาติ โดยมนุษย์เป็นผู้ฉีดน้ำเชื้อของสัตว์ตัวผู้เข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของสัตว์ตัวเมียที่กำลังเป็นสัด เพื่อให้อสุจิผสมกับไข่ทำให้เกิดการปฏิสนธิ ซึ่งเป็นผลให้ตัวเมียตั้งท้องขึ้น

      การผสมเทียมสามารถทำได้ทั้งในสัตว์ที่มีการปฏิสนธิภายใน ได้แก่ โ กระบือ สุกร และสัตว์ที่มีการปฏิสนธิภายนอก ได้แก่ ปลาที่มีการปฏิสนธิภายนอก เช่น ปลาตะเพียนขาว ปลาสวาย ปลานิล ปลายี่สก ปลาดุก ปลาบึก เป็นต้น


วิธีการผสมเทียม

การผสมเทียมมีขั้นตอนการปฏิบัติ

 1. การรีดเก็บน้ำเชื้อ

  1.1 การรีดเก็บน้ำเชื้อจากสัตว์ตัวผู้

   - เมื่อสุกรเพศผู้มีอายุประมาณ  1  ปี

   - ขั้นตอนแรกต้องฝึกให้สุกรเพศผู้คุ้นเคยกับหุ่นเสียก่อนจะรีด น้ำเชื้อจริง  

ปริมาณน้ำเชื้อที่รีดได้ในแต่ละครั้ง

พ่อสุกรเฉลี่ยประมาณ  250 ลบ.ซม. มีตัวอสุจิเฉลี่ย 350  ล้านตัว/ลบ.ซม.

2. การตรวจคุณภาพน้ำเชื้อ

2.1 การตรวจคุณภาพน้ำเชื้อ

  เมื่อทำการรีดเก็บน้ำเชื้อได้แล้ว  จะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพว่าใช้ได้หรือไม่

                โดยวัดปริมาตร  ความหนาแน่น  ความทึบสี  และความเป็นกรดเป็นด่าง  ของน้ำเชื้อ  ตรวจหาความเข้มข้นของตัวเชื้อและใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจดูการเคลื่อนไหวของตัวเชื้อ เพื่อให้ทราบถึงจำนวนตัวเชื้อที่มีชีวิต  เป็นต้น

3. การเจือจางน้ำเชื้อ

3.1 การเจือจางน้ำเชื้อ

 

                น้ำเชื้อที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้วว่าใช้ได้จะนำมาเจือจางในน้ำยาละลายน้ำเชื้อซึ่งเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงตัวอสุจิ

มีคุณสมบัติในการเก็บรักษาตัวอสุจิมิไม่ให้ตาย และยังช่วยเพิ่มปริมาตรในการแบ่งไปใช้สำหรับผสมแม่พันธุ์ได้หลายตัว

4. การเก็บรักษาน้ำเชื้อ  และการผลิตเป็นน้ำเชื้อแช่แข็ง

4.1 การเก็บรักษาน้ำเชื้อ

  ในปัจจุบันสามารถเก็บน้ำเชื้อได้  2  แบบ

  1.น้ำเชื้อสด  หมายถึง  น้ำเชื้อที่ละลายแล้วนำไปเก็บไว้ในตู้เย็นหรือกระติกน้ำแข็งอุณหภูมิ4 – 5  องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้นาน 3 – 5 วัน

  2.น้ำเชื้อแช่แข็ง  หมายถึงการนำน้ำเชื้อมาผ่านกรรมวิธีทำให้เย็นจัดจนแข็งตัวแล้วนำมาเก็บรักษาไว้ในไนโตรเจนเหลวอุณหภูมิ – 196  องศาเซลเซียสเก็บได้นานหลายปี

5. การฉีดน้ำเชื้อ (การผสมเทียม)

5.1 การฉีดน้ำเชื้อ

   คือนำน้ำเชื้อไปฉีดผสมให้กับตัวเมียที่กำลังเป็นสัดซึ่งปกติเมื่อร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่ย่างเข้าสู่วัยสาวใน สุกร  6 – 7  เดือน  ซึ่งเมื่อไข่สุก สัตว์พร้อมที่จะผสมพันธุ์โดยจะแสดงอาการออกมาให้เห็น เช่น

 1. ส่งเสียงร้องบ่อย ๆ  จนผิดสังเกต

 2. ยืนนิ่งให้ตัวอื่นขึ้นขี่ หรือยอมให้คนขึ้นเหยียบ

 3. กระวนกระวายกินอาหารน้อย

 4. มีน้ำเมือกใสไหลออกมาจากปากช่องคลอด

 5. อวัยวะเพศบวมแดง



คลิปการผสมพันธู์เทียมสุกร

ข้อดีของการผสมเทียมพวกโค กระบือ และสุกร มีดังนี้


1. ได้สัตว์พันธุ์ดีตามต้องการ

2. ประหยัดพ่อพันธุ์โดยการนำน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์มาละลายน้ำยาสำหรับละลายน้ำเชื้อ ซึ่งทำให้สามารถนำมาฉีดให้แก่แม่พันธุ์ได้เป็นจำนวนมาก

3. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูพ่อพันธุ์หรือการสั่งซื้อพ่อพันธุ์

4. สามารถผสมพันธุ์กันได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงขนาดตัวและน้ำหนักของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์

5. ตัดปัญหาเรื่องการขนส่งพ่อพันธุ์ไปผสมในที่ต่าง ๆ โดยเพียงแต่นำน้ำเชื้อไปเท่านั้น

6. สามารถควบคุมให้สัตว์ตกลูกได้ตามฤดูกาล สามารถป้องกันโรคติดต่อจากการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ และยังแก้ปัญหาการติดลูกยากในกรณีที่มีความผิดปรกติของระบบสืบพันธุ์ของแม่พันธุ์ได้อีกด้วย





ที่มา : http://pomanimal.igetweb.com/?mo=3&art=518573
          http://www.surin1.js.ac.th/surin/animal/techno/2animal.html
          http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E:Pas1.jpg

EM Ball




             ในช่วงนี้เราจะเห็นอีกสิ่งหนึ่งที่พบว่ามีการพูดถึงกันเยอะ นั่นคือ EM Ball นั่นเอง แต่จริงๆแล้ว EM Ball คืออะไร ใช้งานอย่างไร และครอบจักรวาลจริงหรือไม่ มีวิธีการทำอย่างไร นั้นลองไปดูกันนะครับ



EM Ball ที่ว่านั้น EM มาจากคำว่า Effective Micro-organisms หมายถึง กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ โดยต้นกำเนิดนั้นมาจากทางฝั่งประเทศญี่ปุ่น โดย ศาสตราจารย์ ดร.เทรโอะ ฮิงะ (TEROU HIGA) แห่งมหาวิทยาลัยริวกิว เมืองโอกินาว่า ได้ทดลองใช้เทคนิคทางชีวภาพในการปรับสมดุลของสิ่งแวดล้อม โดยอาศัย กลุ่มจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง อย่างเช่น แลกโตบาซิลัส เพนนิซีเลี่ยม ไตรโคเดอมา ฟูซาเรียม สเตรปโตไมซิส อโซโตแบคเตอ ไรโซเบียม ยีสต์ รา เป็นต้น

          ซึ่งข้อดีของมันคือ เป็นจุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการอากาศ และมีพลัง “แอนติออกซิเดชั่น” ซึ่งโดยปรกติแล้ว หัวเชื้อ EM ที่ได้มักจะเป็นของเหลวสีน้ำตาลกลิ่นหอมอมเปรี้ยวอมหวาน ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ แต่เนื่องจาก การใช้ EM ที่เป็นแบบน้ำนั้นจะทำให้น้ำไหลไปกับสายน้ำ จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมในพื้นที่น้ำไหล เหมือนดั่งสภาวะน้ำท่วมในตอนนี้ (ดังนั้นหากบ้านใครมี สระน้ำ บ่อน้ำ ที่ต้องการใช้ก็สามารถใช้ EM แบบน้ำได้นะครับ)

ประโยชน์ของEM หรือจุลินทรีย์โดยทั่วไป ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่นิยมกันคือ
EM Ball ที่ว่านั้น EM มาจากคำว่า Effective Micro-organisms หมายถึง กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ โดยต้นกำเนิดนั้นมาจากทางฝั่งประเทศญี่ปุ่น โดย ศาสตราจารย์ ดร.เทรโอะ ฮิงะ (TEROU HIGA) แห่งมหาวิทยาลัยริวกิว เมืองโอกินาว่า ได้ทดลองใช้เทคนิคทางชีวภาพในการปรับสมดุลของสิ่งแวดล้อม โดยอาศัย กลุ่มจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง อย่างเช่น แลกโตบาซิลัส เพนนิซีเลี่ยม ไตรโคเดอมา ฟูซาเรียม สเตรปโตไมซิส อโซโตแบคเตอ ไรโซเบียม ยีสต์ รา เป็นต้น

ซึ่งข้อดีของมันคือ เป็นจุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการอากาศ และมีพลัง “แอนติออกซิเดชั่น” ซึ่งโดยปรกติแล้ว หัวเชื้อ EM ที่ได้มักจะเป็นของเหลวสีน้ำตาลกลิ่นหอมอมเปรี้ยวอมหวาน ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ แต่เนื่องจาก การใช้ EM ที่เป็นแบบน้ำนั้นจะทำให้น้ำไหลไปกับสายน้ำ จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมในพื้นที่น้ำไหล เหมือนดั่งสภาวะน้ำท่วมในตอนนี้ (ดังนั้นหากบ้านใครมี สระน้ำ บ่อน้ำ ที่ต้องการใช้ก็สามารถใช้ EM แบบน้ำได้นะครับ)

ประโยชน์ของEM หรือจุลินทรีย์โดยทั่วไป ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่นิยมกันคือ



- ใช้ในการปรับเศษอาหารจากครัวเรือน ให้กลายเป็นปุ๋ยที่มีประโยชน์ต่อพืชผักได้
- ช่วยปรับสภาพน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือน โรงงาน โรงแรมหรือแหล่งน้ำเสีย
- ช่วยดับกลิ่นเหม็นจากกองขยะที่หมักหมมมานานได้
สำหรับ EM นั้นไม่ได้มีแต่ EM Ball เพียงอย่างเดียวที่ใช้งานได้ แต่เรายังใช้น้ำ EM ในการบำบัดน้ำเสียได้อีกด้วยนะครับ
……………..
สำหรับการทำ EM Ball ไว้ใช้งานกันภายในบ้าน

    การทำ EM Ball ไว้ใช้เองนั้น ไม่ใช่เรื่องยากครับ เนื่องจากไม่ต่างจากการทำขนมเค้ก หรือ ผสมปูนมากนักครับ แต่ในช่วงนี้ก็อาจจะหาวัสดุอุปกรณ์ยากเสียหน่อยครับ






คลิปวิธีการทำ EM Ball

วัสดุที่ต้องการใช้ในการ EM Ball


- รำละเอียด
- รำหยาบ
- น้ำ
- หัวเชื้อ EM
- กากน้ำตาล
- ดินทรายละเอียด (ถ้าไม่มีเอาดินเลนมาผึ่งให้แห้งๆหน่อย หรือใช้ดินขี้เถ้าแกลบก็ได้ครับ)

ขั้นตอนการทำ EM Ball


- นำรำละเอียด 2 ส่วน รำหยาบ 2 ส่วน ดินทรายละเอียด 1 ส่วน มาผสมกัน คลุกเคล้าให้ทั่ว (บางสูตรอาจจะใช้อัตราส่วนเท่ากันหมดก็ได้ครับ)
- EM 10 ช้อนแกง กากน้ำตาล 10 ช้อนแกง น้ำ 10 ลิตร ผสมให้เข้ากัน
- จากนั้นนำทั้งสอง อย่างมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน แนะนำว่า ค่อยๆเทน้ำ EM ที่ผสมแล้วลงไปครับ เพราะถ้าเทรวดเดียวหมดแล้วมันเหลวไป ปั้นเป็นก้อนไม่ได้ ก็ต้องไปผสม ส่วนผสมใน ข้อ 1 เพิ่ม
- จากนั้นพอปั้นเป็นก้อน ก็ให้นำไปวางผึ่งลมให้แห้งนะครับ ย้ำว่า ผึ่งลม ถ้าใครเอาไปผึ่งแดด เราจะได้ก้อนดินเท่านั้นครับ เพราะเชื้อตายเอาง่ายๆครับ
- หลังจากนั้นควรเก็บไว้อีกซัก 10-15 วัน เพื่อให้เชื่อเริ่มทำงานนะครับ ใครได้ EM Ball ใหม่สด เพิ่งแห้ง โยนลงไปอาจจะทำให้ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควรนะครับ ควรรอซักระยะให้เชื้อเริ่มขยายจำนวนก่อน
ข้อจำกัดของการใช้ EM Ball

ซึ่งจริงๆแล้ว เราจะเห็นข่าวกันเยอะไปใช้ EM Ball ไปโยน EM Ball นั้น ไม่ได้หมายความว่า มันจะช่วยได้ครอบจักรวาลนะครับ หากแต่ EM Ball เป็นตัวเร่งปฎิกิริยาในสภาพแวดล้อม เท่านั้นเอง พูดง่ายๆคือ เหมือนกับการเปลี่ยนจากการเคี่ยวน้ำซุบกระดูกหมูกันเป็นวัน มาเป็นโยนซุบไก่ ซุบหมูก้อน กันแทนนั่นเองครับ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนก็คือ
- จุลินทรีย์ที่นำมาทำ EM ball นั้นมีชนิดและปริมาณของจุลินทรีย์ ที่มาก และไม่เสื่อมสภาพ ดังนั้น น้ำ EM ที่นำมาเป็นหัวเชื้อต้องสดใหม่หน่อยครับ
- ต้องมีปริมาณที่เหมาะสมในการใช้งาน เช่นใน บ่อน้ำที่มีน้ำนิ่ง ก็จะอยู่ที่ EM Ball 1 ก้อน ต่อ 1 เดือน ต่อน้้าไม่เกิน 5-10 ลบ.ม. ส่วนในน้ำไหลแบบที่เป็นสถานการณ์น้ำท่วมนั้นอาจจะต้องใช้เยอะกว่านั้นมาก ดังนั้น หากน้ำท่วมภายในเขตรั้วบ้านและมีน้ำนิ่ง การเลือกใช้ EM Ball ลงไปเพื่อลดกลิ่นจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด แต่ถ้าจะโยนลงถนนหน้าบ้าน หรืออย่าง ถนนวิภาวดีนั้น จะต้องใช้เยอะมากๆ ดังนั้นถ้าจะใช้กับพื้นที่ถนนหน้าบ้านใคร ก็ควรดูประกอบครับว่า น้ำไหลแรงแค่ไหน ถ้าไม่ค่อยไหล นิ่งๆ ก็ใช้ดูได้ครับ แต่ให้ใช้เยอะหน่อยเท่านั้น
สมมุติว่า น้ำขังในบ้านสูงหนึ่งเมตร พื้นที่ภายในรั้วบ้านกว้าง 5เมตร ยาว 10 เมตร ก็จะเท่ากับปริมาณน้ำ 50 ลบ.ม. ซึ่งก็ใช้ EM Ball ประมาณ 5-10ลูก
- ระดับน้ำ ไม่ควรเกิน 3 เมตร
- ดังนั้นในพื้นที่ ที่มีน้ำไหล สามารถเลือกใช้วิธีการอื่น เช่น การเติมอากาศ จะดีกว่า (ดังเช่นที่ การประปา เลือกที่จะใช้การเติมอากาศลงสู่คลองประปา แทนนั่นเอง)
น้ำหัวเชื่อ EM สำหรับบำบัดน้ำเสีย

       จริงๆแล้วในการใช้งาน สำหรับเจ้า EM Ball นั้นคือ มีข้อดีในการที่จะไม่ไหลไปตามน้ำ และทำให้การย่อยสลายเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เก็บได้นาน แต่หาต้องการรวดเร็วใช้เลย และไม่ต้องการบ่มให้เสียเวลา การเลือกใช้น้ำ EM ราดเลยก็ใช้การได้ครับ ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ในตัวบ้าน หลังน้ำลด เพื่อใช้ราดลงตามท่อระบายน้ำต่างๆ ซึ่งจะช่วยลดกลิ่นเหม็นเน่าลงได้สะดวก รวดเร็วกว่านะครับ


อุปกรณ์ ในการทำน้ำ EM

- หัวเชื้อ EM
- น้ำซาวข้าว

วิธีการทำน้ำ EM


ง่ายมากมายครับ คือ นำน้ำซาวข้าว 10 ลิตร ผสมกับ หัวเชื้อ EM 2 ช้อนโต๊ะ ผสมกัน คนนิดหน่อยพอให้เข้ากันได้ครับ จากนั้น กรอกใส่ขวด ใส่ถังอะไรก็ได้ ปิดฝาไว้พอให้อากาศระบายได้ แนะนำว่า ถ้าใช้กระดาษหนังสือพิมพ์คลุมถังไว้ก็ได้แล้วครับ แต่ถ้าใส่ในขวดปิดฝา ควรเปิดระบายอากาศทุกเช้า ทุกวันครับ ดังนั้น แนะนำว่า เอากระดาษหนังสือพิมพ์คลุมไว้ดีที่สุด
โดยทิ้งไว้ 7 วันนะครับ จะได้นำ EM นำไปใช้งานได้แล้ว
วิธีการนำน้ำ EM ไปใช้

วิธีการใช้งานไม่ยากครับ ถ้ามีกลิ่นเหม็นเน่าในท่อ ก็ราดลงท่อ หรือตรงมุมพื้นที่น้ำขังอยู่ได้ทันทีครับ ซึ่งเจ้าน้ำ EM นี้เหมาะสำหรับพื้นที่ที่น้ำขังนิ่งๆ ไม่ไหลไปไหน และมีขนาดพื้นที่ไม่เยอะมาก เช่นในบ่อเกรอะ บ่อพักน้ำทิ้งในบ้าน บ่อปลาที่น้ำท่วมขังอยู่ (และปลาไปกับน้ำท่วมแล้ว) พวกนี้ช่วยได้ครับ
ส่วนถ้าเป็นพื้นที่ ที่มีปริมาณเยอะ สามารถใช้ร่วมกับ EM Ball ได้ครับ เช่นโยน EM Ball ไป 5 ลูก แล้วราดน้ำ EM ที่เหลือ กระจายๆกันลงไป หรือกองขยะเหม็นๆ ก็สามารถใช้ราดเพื่อลดกลิ่นได้ แต่ถ้าขยะทั้งหมดอยู่ในถุงดำ ก็คงลำบากหน่อยครับ
ข้อจำกัดของน้ำ EM ที่ทำขึ้น

เนื่องจากมันเป็นน้ำ ดังนั้น ไม่สามารถใช้ในพื้นที่ที่เป็นน้ำไหลได้เลย เช่น ถนนหน้าบ้านที่น้ำท่วม, ถนนวิภาวดี อะไรพวกนี้ใช้ไม่ได้ครับ หรือใช้ในคลองก็ไม่ได้ เทไปปุ๊บหายวับไปกับตาเลยทีเดียว ที่อาจจะพอใช้ได้หลังน้ำลดแล้วเช่น ท่อระบายน้ำหน้าบ้าน ที่ส่งกลิ่นเหม็น เป็นต้น



ดังนั้นในสถานการณ์น้ำท่วมแบบนี้ ควรจะเลือกใช้งานให้เหมาะนะครับ ว่าจะใช้แบบไหน อย่าคิดว่า EM Ball สามารถใช้งานได้เพียงอย่างเดียว หรือใช้งานได้ครอบจักรวาลครับ






ที่มา : http://news.mthai.com/flood/flood-tips/139188.html
       







การใช้สารสกัดจากพืชควบคุมแมลงศัตรูพืช

            ในการอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนประชากรของแมลงศัตรูธรรมชาติที่มีประโยชน์ให้เพิ่มขึ้น  ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและหันมาใช้สารสกัดจากพืชชนิดต่างๆที่หาได้ง่ายและพบได้ทั่วๆไปมาใช้ทดแทน  โดยที่การใช้สารสกัดจากพืชนั้นก็มีผลในการทำลายแมลงที่เป็นประโยชน์  พวกตัวห้ำ-ตัวเบียนด้วย  แต่มีความเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อมน้อยกว่าสารเคมี  เนื่องจากความเป็นพิษมีการสลายตัวได้รวดเร็วไม่ตกค้างในดินนาน  โดยมีวิธีการในการสกัดใช้เองที่ไม่ยุ่งยาก  จากงานทดลองของกองวัตถุมีพิษการเกษตรและสำนักวิจัยและพัฒนาการผลิตสารธรรมชาติ  กรมวิชาการเกษตรได้แนะนำวิธีการใช้เอาไว้ดังนี้

1.  สะเดา



           สารสกัดที่พบในสะเดามีฤทธิ์ในการป้องกันกำจัดแมลง  ได้แก่  สารอะซาดิแรคติน (Azadiractin A)  ที่มีอยู่มากในเนื้อเมล็ด  โดยจะมีผลในการยับยั้งการลอกคราบของแมลง  ยับยั้งการวางไข่  และเป็นสารไล่แมลงใช้ได้ผลดีกับหนอนชนิดต่างๆ  เช่น  หนอนเจาะยอดกะหล่ำ  หนอนกระทู้หอม  หนอนกระทู้ผัก  เพลี้ยอ่อน  เพลี้ยจักจั่น  และเพลี้ยไก่แจ้  สำหรับเพลี้ยไฟ  และไรแดงใช้ได้ผลปานกลาง
วิธีการใช้
-          เมล็ดสะเดาที่ผึ่งแห้งมาบดหรือตำในอัตรา  1  กิโลกรัม  ผสมน้ำ 20 ลิตร  ทิ้งไว้ 1-2 คืน  แล้วกรองเอากากออก  นำสารสกัดที่ได้ไปฉีดพ่น
-          ใบสะเดาแห้งบดให้ละเอียดคลุกเมล็ดข้าวโพด  ใช้อัตรา 1:10  โดยน้ำหนักเพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูในโรงเก็บเมล็ดพันธุ์  เช่น  มอดแป้ง  ด้วงงวงถั่ว  ผีเสื้อข้าวเปลือก  ด้วงงวงข้าวโพด
-          ใบสะเดาแก่ใบสด  อัตรา 2 กิโลกรัม  ตำให้ละเอียดหักในน้ำ 10 ลิตร  ทิ้งไว้ 2 คืน  กรองเอากากออกแล้วนำไปฉีดพ่น

การใช้สะเดาปราบศัตรูพืช

2.  โล่ติ๊น


        สารสกัดที่ได้จากโล่ติ๊นหรือหางไหลมีผลในการป้องกันกำจัดแมลงและเบื่อปลาทำให้ปลาสลบได้  โดยไม่มีพิษต่อคน  ได้แก่  สารโรติโนน  ซึ่งพบปริมาณในส่วนรากของต้นหางไหล  โดยสารโรติโนนจะออกฤทธิ์เหมือนสารกำจัดแมลงชนิดไม่ดูดซึมเข้าสู่ต้นพืช (non-systemic insecticide)  ออกฤทธิ์เป็นพิษโดยการกินหรือโดยการสัมผัส  สารโรติโนนมีผลโดยตรงกับระบบการทำงานของไมโตคอนเดรีย  ซึ่งอยู่ภายในเซลล์ของร่างกาย  โล่ติ๊นสามารถนำมาใช้ในการป้องกันกำจัดแมลงได้หลายชนิด  ได้แก่  แมลงวัน  เพลี้ยอ่อน  ด้วงงวงถั่ว  ตั๊กแตน  ตัวอ่อนเพลี้ยจักจั่นฝ้าย  หนอนกระทู้ผัก  และหนอนใยผัก
วิธีการใช้              
                 นำส่วนของรากหรือลำต้นของโล่ติ๊นที่มีอายุ 2-3 ปี  มาบดหรือตำให้แหลกละเอียด  โดยใช้รากหรือลำต้น 0.5-1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร  ร่วมกับการใส่กากน้ำตาล 100 กรัม  เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพของสารสกัดให้ดียิ่งขึ้น  หมักทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน  ในระหว่างหมักควรใช้ไม้กวน 3-4 ครั้ง  เมื่อครบ 2 วัน  นำมากรองและนำน้ำสกัดที่ได้ไปฉีดพ่นป้องกันกำจัดแมลงได้  ข้อควรระวัง  คือ  ไม่แนะนำให้ใช้กับแปลงผักหรือไม้ผลที่มีบ่อเลี้ยงปลาอยู่ใกล้ๆ  เช่น  แปลงที่ขุดเป็นร่องน้ำล้อมรอบแล้วเลี้ยงปลาไว้  นอกจากนี้ยังทำลายแมลงที่มีประโยชน์พวกด้วงเต่าตัวห้ำด้วย

3.  สาบเสือ (Eupatorium odoratum L.)



               สารที่ออกฤทธิ์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชที่พบในสาบเสือ  ได้แก่  Pinene, limonene  และ nepthaquinone ซึ่งพบทั้งในส่วนของดอกและในใบ  แต่ในใบมีปริมาณสารมากกว่าในดอก  ใช้ได้ผลกับหนอนชนิดต่างๆ  เช่น  หนอนใยผัก  หนอนกระทู้ผัก  เพลี้ยอ่อน  และด้วงเขียว
วิธีการใช้
                นำส่วนของงใบสาบเสือแห้ง  400  กรัม  ตำให้ละเอียดผสมกับน้ำ  3  ลิตร  ต้ม 10 นาที  ทำให้เย็นแล้วกรองเอากากทิ้ง  แล้วนำไปฉีดพ่นในแปลงมะเขือเปราะ  สามารถกำจัดเพลี้ยอ่อนได้ดีและพ่นในแปลงผักสามารถป้องกันหนอนกระทู้ผักได้ดี



ที่มา : เอกสารอ้างอิง:จิราพร  เพชรรัตน์. 2547. การจัดการสวนไม้ผลให้ปลอดภัยต่อชีวิต (ผู้ผลิตและผู้บริโภค) และสิ่งแวดล้อม. เอกสารประกอบการอบรม  โครงการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี  คณะทรัพยากรธรรมชาติ  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา.
          http://share.psu.ac.th/blog/marky12/14470

การทำน้ำปลาจากปลากระตัก



     ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการหนึ่งซึ่งทำการศึกษา
ทดลอง ค้นคว้างานพัฒนาด้านต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการเลี้ยงกุ้งทะเลและงานส่งเสริมอาชีพ ทางด้านการเกษตร
และกิจกรรมในกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เพื่อเป็นการดำเนินการตามแนวพัฒนา ดังนี้คือ คุณภาพชีวิตของเกษตรกร
ในพื้นที่มีรายได้ เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้เสริม สิ่งแวดล้อมต้องรักษาสภาพแวดล้อมให้คงอยู่ หรือดีขึ้นกว่าเดิม เกษตรกรในพื้นที่โครงการมีการประกอบอาชีพทั้งด้านการเกษตรและประมงชายฝั่ง ซึ่งจับปลาได้เพิ่มเป็นจำนวนมาก
และเมื่อนำมาจำหน่ายในตลาดท้องถิ่นในอำเภอได้ราคาถูกเมื่อนำมาแปรรูปเป็นปลาเค็มก็ยังไม่เป็นที่นิยมในขณะนั้น
วัตถุดิบอุดมสมบูรณ์มากถ้าหากเรานำมาแปรรูปเป็นน้ำปลาจะได้น้ำปลาที่มีคุณภาพดี ทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้น
และเป็นการเสริมรายได้ให้กับเกษตรกร และอีกประการหนึ่งก็คือ การบริโภคที่ทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทดลองและแปรรูปต่อเนื่องหลายปี จนได้ผลสรุป
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนจึงได้จัดทำคู่มือขึ้นเพื่อเป็นการเผยแพร่แก่เกษตรกรและผู้สนใจต่อไป

 

การทำน้ำปลา


        ทุกท่านคงทราบถึงความสัมพันธ์ของน้ำปลากับชีวิตของคนไทยโดยทั่วไปแล้วจะแยกกันไม่ออกแทบทุกครัวเรือน แล้วแต่ฐานะความเป็นอยู่ คือ ฐานะดีก็ซื้อน้ำปลาดีบริโภค คนมีรายได้น้อยก็ซื้อน้ำปลาผสมหรือน้ำปลาคุณภาพต่ำ และขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจในเรื่องของน้ำปลาด้วยว่าแต่ละชนิดมีส่วนประกอบอย่างไรบ้าง
        เกษตรกรในพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน มีการประกอบอาชีพทั้งด้านการเกษตร
และประมงชายฝั่งเป็นส่วนใหญ่ ทำการประมง และทำการเกษตรตามฤดูกาล การทำประมงชายฝั่ง ส่วนใหญ่ได้ปลากระตักเป็นจำนวนมากในระหว่างช่วง เดือน ตุลาคม ถึงเดือน เมษายน ของทุกปี

ชนิดของปลาที่ใช้


       ปลาที่ใช้ในการทำน้ำปลามีหลายชนิด ได้แก่ ปลาไส้ตัน (ปลากะตัก) ปลาหลังเขียว ปลาทู ปลาลัง ปลาแป้น  ปลาทรายแดง ปลาทรายขาว ปลาข้างเหลือง เป็นต้น สำหรับปลาไส้ตันหรือปลากระตักนั้น เป็นปลาสำหรับทำน้ำปลา และเป็นปลาที่ใช้ในการทำน้ำปลาแท้ที่มีคุณภาพสูงสุด เพราะน้ำปลาไส้ตันที่ได้จะมีกลิ่นหอมรสดี สีค่อนข้างแดง โดยปลาที่ใช้ต้องสด และต้องคัด ล้างสะอาด เพื่อให้ได้น้ำปลาที่มีคุณภาพ
     เกษตรกรในพื้นที่โครงการที่ทำการประมงและมีวัตถุดิบที่หามาได้จากการประมง นำปลากระตักสดไปขาย  ก็ไม่ได้ราคา เมื่อนำมาตากแห้งก็มีปัญหา ฝนตกทำเสียหาย และขายปลาตากแห้งได้ราคาต่ำกว่า เกษตรกรจึงได้รวมตัวกันขอคำแนะนำจากหน่วยงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน และทางหน่วยงาน  ศูนย์ศึกษาฯ ได้ให้งานส่งเสริมการเกษตรรับหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนในการแปรรูปน้ำปลา
     จากนั้น จึงเกิดการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ครั้งแรกจำนวน 1กลุ่ม มีการประชุม
ระดมความคิดเพื่อจะทำกิจกรรม โดยทางราชการส่งเสริมและให้คำแนะนำโดยมีความเห็นของส่วนรวม
ว่าสมควรทำน้ำปลา เพราะจะใช้ประโยชน์ได้มากกว่า
     โดยกลุ่มแรก ได้ทำการทดลองหมักน้ำปลาโดยใช้โอ่งมังกรหรือโอ่งดินเผาเคลือบ แล้วจึงพัฒนา
มาเป็นถังซีเมนต์ ก่อฉาบได้ทดลองมาตลอดระยะเวลา 5 ปีเต็ม จึงได้พัฒนามาเป็นการสร้างถังคอนกรีตหล่อ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร สูง 180 เมตร จนถึงปัจจุบัน
     พื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองขุด ได้จัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จำนวน 8 กลุ่ม ที่ผลิตน้ำปลา ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะสามารถหมักน้ำปลา
เพื่อผลิตน้ำปลาได้ถึง 27,000 กิโลกรัม แต่ยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการของผู้บริโภค

                                                        รูปที่ 1 : ขั้นตอนการผลิต

ขั้นตอนการผลิต


     การสร้างถังหมักน้ำปลา ขนาดความสูง1.8 เมตร
เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร(ความลึกด้านในถังหมัก
1.20 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร)
ความจุประมาณ 2,800-3,000 กิโลกรัม
การหล่อคอนกรีตเสริมด้วยโครงสร้างไม้ไผ่แทน
โครงสร้างเหล็กเพื่อป้องกันการเป็นสนิมและการแตกร้าว
ถังที่สร้างเสร็จ ให้ทำความสะอาด แล้วจึงทำการแช่น้ำจืด
เพื่อให้ถังปูนคลายความเค็มออกมาในขั้นตอนนี้จะ
ใช้เวลา 1 -2 เดือน จนกระทั่งปูนจืดจึงทำการล้างถัง
ให้สะอาดแล้วตากถังให้แห้งก่อนการบรรจุปลา


เตรียมวัสดุอุปกรณ์

1. วัสดุใช้กรอง มีดังนี้
     - ถ่านล้างสะอาด
     - หินแกร่ง
     - ทรายหยาบ
     - ผ้าขาวบาง
2. หลังคากระเบื้องโปร่งใส
3. ถุงผ้าบรรจุวัสดุกรอง จำนวน 3 ถุง ขนาดกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร เป็นผ้าขาวบางซ้อน 2 ชั้น
4. ตาข่ายพลาสติกปิดปากถัง กันผง กันแมลงต่างๆ จำนวน 1 ผืน กว้าง 2.50 เมตร ยาว 2.50 เมตร
5. พลาสติกใสชนิดหนา เตรียมเพื่อสำรองป้องกันฝนสาด หรือใช้ปิดปากถังเมื่อมีฝุ่นละอองมาก

การเตรียม

1. เกลือในการผสมกับปลาที่เอามาทำการหมักปลา ในอัตราส่วน ปลา 2 ส่วน เกลือ 1 ส่วน หรือ
   ปลา 3 ส่วน เกลือ 1 ส่วน
2. ปลาไส้ตันหรือปลากระตัก จำนวนประมาณ 2,500 กิโลกรัม ต่อการหมัก 1 ถัง

กรรมวิธีการผลิต

       นำปลากระตักมาคัดเลือกเอาปลาชนิดอื่นๆ ที่ปนออกมาให้หมด และทำความสะอาด แล้วนำมาคลุกกับเกลือสมุทรให้ทั่วในอัตราส่วน 2 : 1 ปลา 2 ส่วน เกลือ 1 ส่วน หรือ ปลา 3 ส่วน เกลือ 1 ส่วน
แล้วนำไปใส่ถังหมักซีเมนต์ ภายในใส่เกลือรองก้นถัง เมื่อใส่ปลาครบจำนวนแล้วให้ใช้ตาข่ายพลาสติก
ปิดปากถัง 1 ผืน เพื่อป้องกันผงและแมลงนำหลังคาโปร่งแสงมาคลุมถังหมักแล้วยึดด้วยเชือกให้แน่น
เพื่อป้องกันลม ป้องกันฝนลงในถังหมัก

น้ำปลาจะเสียหายได้เมื่อ

1. น้ำฝนลงถัง ทำให้ความเข้มข้นของเกลือน้อยลง จะทำให้ปลาเน่า จะได้น้ำปลาที่มีกลิ่นไม่ดี
2. ถังรั่ว เนื่องจากการสร้างถัง จะต้องหล่อคอนกรีตอย่างดี


ผลผลิตที่ได้ต่อหน่วยการลงทุน

วัตถุดิบ 
      ปลา 1 ตัน เป็นเงิน 7,000.- บาท
      เกลือ 500 กิโลกรัม เป็นเงิน 1,500.- บาท
หมัก 1 ปี
      จะได้ปริมาณการผลิตต่อครั้ง ประมาณ 900-950 ขวด ( ขนาดบรรจุขนาดปริมาณ 750 ลูกบาศก์เซนติเมตร)
ผลผลิตที่ได้โดยประมาณ
      ราคาต่อหน่วย ( ขวดละ) 23-25 บาท จำนวน 20,700 – 23,750 บาท

หมายเหตุ 
     
      ค่าใช้จ่ายองค์ประกอบต่างๆ เช่น บ่อหมัก บรรจุภัณฑ์ และอุปกรณ์ต่างๆ ยังไม่ได้บวกรวมในต้นทุนการผลิตนี้
การมุงหลังคาด้วยกระเบื้องโปร่งแสง เพื่อต้องการแสงแดดช่วยเร่งให้เกิดการสลายตัวของโปรตีนในปลาเป็น
กรดอะมิโนเร็วขึ้น เมื่อหมักจนได้ที่แล้วไขน้ำออกมา แต่น้ำปลาจะไม่ใสต้องกรองด้วยถุงกรอง 3 ชั้น ที่ประกอบไปด้วย
หิน ถ่าน ทรายหยาบทำการกรองจะได้น้ำปลาใสแล้วนำลงบรรจุขวด กลิ่นน้ำปลาจะหอมน่ารับประทาน
สามารถเก็บไว้บริโภคได้เป็นเวลานาน


รูปที่ 2 : การกรอกใส่ขวด


น้ำปลาในปัจจุบัน
   มีจำหน่ายอยู่ 2 ชนิด คือ
        1. หัวน้ำปลา หรือน้ำปลาน้ำหนึ่ง
เป็นน้ำปลาที่เปิดจากถังครั้งแรกจะไม่มี
จำหน่ายโดยทั่วไป จะมีส่วนประกอบ
ดังนี้
             1.1 ปลา 65%
             1.2 เกลือ 35 %
             1.3 ไม่มีวัตถุกันเสีย
             1.4ไม่ปรุงแต่งกลิ่นรสและสี

      2. น้ำปลาน้ำสอง เป็นน้ำปลาที่ผลิตต่อจากหัวน้ำปลา
หรือน้ำปลาน้ำหนึ่ง โดยมีส่วนประกอบ
ดังนี้
             2.1 ปลา 60%
             2.2 เกลือ 37 %
             2.3 ไม่มีวัตถุกันเสีย
             2.4ไม่ปรุงแต่งกลิ่นรสและสี  คุณภาพรองจากหัวน้ำปลา

   
     


รูปที่ 3 : น้ำปลาที่ผ่านการตรวจวิเคราะห์แล้ว

ผลการตรวจวิเคราะห์น้ำปลาน้ำหนึ่

1. เป็นของเหลวใส สีน้ำตาล ไม่มีตะกอน                      

2. ขวดแก้วกลมใส ปิดสนิทด้วยฝาพลาสติก


 3. ไม่พบวัตถุกันเสีย
 4. ไม่มีวัตถุให้ความหวาน
 5. ไม่มีสีสังเคราะห์
 6. เกลือโซเดียม ไม่น้อยกว่า 223.19 กรัม/ ลิตร
 7. ปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า
         26.31 กรัม/ ลิตร
 8. กรดกลูตามิคต่อไนโตรเจนทั้งหมด 0.5
 9. ร้อยละของไนโตรเจนจากกรดอมิโน
         ต่อไนโตรเจนทั้งหมด 47.34



ที่มา : http://www.fisheries.go.th/cf-kung_krabaen/products.htm


การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า






การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า

วัสดุและอุปกรณ์


1. ตะกร้าพลาสติก (ตะกร้าใส่ผลไม้) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 นิ้ว สูงประมาณ 11 นิ้ว มีตาห่างประมาณ 1 นิ้ว มีจำนวนช่องเป็นแถวจากล่างขึ้นบน 7 ช่อง ก้นตะกร้าไม่ทึบช่วยให้ระบายน้ำได้ดี

2. วัสดุเพาะ ที่นิยมได้แก่ ฟางข้าว, เปลือกถั่ว, ชานอ้อย เป็นต้น

3. อาหารเสริม เป็นวัสดุที่ช่วยให้เชื้อเห็ดฟางช่วงแรกที่ใส่ลงวัสดุเพาะเจริญได้ดีก่อนที่ เชื้อเห็ดฟางจะเจริญในวัสดุเพาะ อาหารเสริมต้องเป็นวัสดุที่ย่อยได้ง่าย เช่น

3.1 ผักตบชวา หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หั่นเฉียงแบบปลาฉลามขนาด 1-2 เซนติเมตร ใช้ได้ ทั้งต้น ใบ ราก จะใช้ผักตบชวาแห้งก็ได้
3.2 ไส้นุ่น ก่อนนำมาใช้ชุบน้ำพอหมาด
3.3 ต้นกล้วย หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นอกจากนี้อาจจะใช้แป้งสาลีหรือรำละเอียดอย่างใดอย่างหนึ่งนำมาคลุกเชื้อเห็ดฟาง ก่อนก็ได้

4. เชื้อเห็ดฟางที่ดี ถ้าเป็นแบบหัวเชื้อถุง 1 ถุง เพาะได้ 3 ตะกร้า หรือ เชื้อถุงเล็ก เพาะได้ 1 ตะกร้า

5. พลาสติกคลุมวัสดุเพาะขณะเพาะเห็ดฟางในตะกร้า จะใช้พลาสติกใสหรือสีก็ได้ ขนาด 4x4 เมตร หรือจะใช้ถุงพลาสติกเย็บติดต่อกัน เป็นผืนก็ได้หรือใช้พลาสติกใสขนาดกว้าง 2x4 เมตรก็ได้

6. วัสดุ+อุปกรณ์อื่นๆ เช่น บัวรดน้ำชนิดฝอยละเอียด, ไม้ทุบก้อนเชื้อเห็ด, เกรียงไม้(สำหรับอัดวัสดุเพาะเห็ด)

7. โครงไม้ไผ่หรือสุ่มไก่ สำหรับครอบตะกร้าเพาะเห็ดฟาง

การเตรียมวัสดุ+อุปกรณ์ในการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า


1.การเตรียมพื้นที่เพาะเห็ด

1.1 ใต้ร่มไม้ หรือใต้ถุนบ้านก็ได้
1.2 ปรับพื้นที่ทำความสะอาด
1.3 กำจัดมด ปลวก ให้เรียบร้อย โดยโรยปูนขาวให้ทั่วก่อนเพาะ 2-3 วัน รดน้ำพอให้พื้นที่ชุ่มชื้นพอสมควร

2. การเตรียมวัสดุเพาะ ฟางข้าวหรือเปลือกถั่วเขียว ชานอ้อย อย่างใดอย่างหนึ่ง นำมาแช่น้ำก่อนเพาะ 1 คืน จากนั้นนำขึ้นจากน้ำ พร้อมที่จะนำไปเพาะได้

3.การเตรียมอาหารเสริม นิยมใช้ผักตบชวาสด เนื่องจากได้ผลดีที่สุด นำมาหั่นยาว ½ เซนติเมตร หั่นเฉียงถ้าใช้ไส้นุ่น ต้องแช่น้ำประมาณ 15 นาที บางคนใช้ขี้ไก่แห้งผสมดินอัตราส่วน 1:3 ควรเคล้าให้เข้ากันดี สามารถนำไปใช้ได้เลย

4. น้ำที่ใช้เพาะเห็ดฟาง ควรเป็นน้ำที่สะอาด จาก บ่อ หนอง คลอง หรือน้ำบาดาล ส่วนน้ำประปาที่ผสมคลอรีนใช้ไม่ได้

5. ตะกร้าพลาสติก ถ้าเป็นตะกร้าใหม่ใช้ได้เลย แต่ถ้าเป็นตะกร้าเก่า ต้องทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ ตากแดดไว้สักครึ่งวัน

6. การเตรียมเชื้อเห็ดฟาง เชื้อเห็ดฟางขนาด 1 ปอนด์ ใช้อัตราส่วน 1 ถุง ต่อ 3 ตะกร้า

ขั้นตอนการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า


ขั้นตอนที่ 1 นำวัสดุที่เตรียมไว้แล้ว ใส่ลงในตะกร้าสูงจากตะกร้าประมาณ 1 ฝ่ามือ หรือสูง 2-3 นิ้ว กรณีถ้าเป็นขี้เลื่อยใช้เกรียงไม้กดขี้เลื่อยให้พอแน่นและให้ชิดขอบตะกร้า ให้มากที่สุด

ขั้นตอนที่ 2 โรยอาหารเสริมที่เตรียมไว้ประมาณ 1 ลิตร หรือ 1 ชั้น บนขี้เลื่อยชิดข้างขอบตะกร้าประมาณ 1 ฝ่ามือ โดยรวม อย่าโรยอาหารเสริมหนาเกินไปเพระจะเกิดเน่าเสียได้

ขั้นตอนที่ 3 นำเชื้อเห็ดฟางออกจากถุง นำมาแยกออกเป็นชิ้นๆ นำไปคลุกกับแป้งสาลีพอติดผิวนอกของเชื้อเห็ด แป้งสาลีจะเป็นอาหารเบื้องต้นที่ช่วยกระตุ้นให้เชื้อเห็ดเจริญดีในระยะแรกๆ และแบ่งเชื้อเห็ดออกเป็น 3 ส่วน เท่าๆกัน นำส่วนที่ 1 โรยบนอาหารเสริมโดยรอบ

ขั้นตอนที่ 4 นำวัสดุเพาะชั้นที่ 2 ทำเหมือนชั้นที่ 1

ขั้นตอนที่ 5 ทำเหมือนขั้นที่ 1, 2 ชั้นที่ 3 จะต้องโรยอาหารเสริม เต็มผิวด้านบนหนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วโรยเชื้อเห็ดฟางโดยรอบ

ขั้นตอนที่ 6 นำน้ำประมาณ 2 ลิตร มารดด้านบนวัสดุให้ชุ่มเสร็จแล้วนำตะกร้านี้ไปวางไว้บนพื้นที่ในโรงเรือนที่เตรียมไว้

ขั้นตอนที่ 7 นำตะกร้ามาเรียงกัน 4-5 ใบเสร็จแล้ว จะใช้สุ่มไก่ครอบคลุมไว้

ขั้นตอนที่ 8 นำผ้าพลาสติกมาคลุมสุ่มไก่ด้านล่างควรหาอิฐ หรือดินทับโดยรอบ

ขั้นตอนที่ 9 การดูแล ในช่วง 1-4 วันแรก (ในฤดูร้อนหรือฤดูฝน) ส่วนในฤดูหนาวช่วง 1-8 วัน ต้องควบคุมอุณหภูมิในสุ่มไก่ให้ได้ระดับ 37-40 องศาเซลเซียส
* ถ้าหากอุณหภูมิสูงเกินไป ให้เปิดช่องลมระบายอากาศด้านบน หรือรดน้ำรอบสุ่มไก่เพื่อลดอุณหภูมิลงก็ได้

ขั้นตอนที่ 10 เมื่อถึงวันที่ 4 (ฤดูร้อนหรือฝน) ให้เปิดพาสติกคลุมอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้มีอาการถ่ายเทอากาศ เพื่อให้เส้นใยเห็ดฟางสร้างจุดกำเนิดดอกปกติรดน้ำเพียงเล็กน้อยถ้าวัสดุเพาะ แห้งเกินไป การรดน้ำจะเป็นการตัดเส้นใยเชื้อเห็ด ซึ่งจะกระตุ้นการสร้างจุดกำเนิดดอกได้ด้วย

ขั้นตอนที่ 11 ระหว่างวันที่ 5-8 ต้องควบคุมอุณหภูมิในสุ่มไก่หรือกระโจมไม้ให้อยู่ระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียส และเมื่อเห็ดเป็นดอกเล็กๆ จำนวนมาก ห้ามเปิดพลาสติกบ่อยครั้งเพราะจะทำให้ดอกเห็ดฝ่อได้

ขั้นตอนที่ 12 การเก็บเกี่ยวผลผลิต ประมาณวันที่ 8-9 ในฤดูร้อนหรือวันที่ 12-15 ในฤดูหนาว

การเก็บ ให้ใช้หัวแม่มือกับนิ้วชี้จับดอกเห็ดฟางที่ได้ขนาดแล้วหมุนเล็กน้อยยกขึ้น ดอกเห็ดก็จะหลุดออกมาโดยง่าย





จุลินทรีย์ โปรไบโอติก (Probiotics)


       

       จุลินทรีย์โปรไบโอติกได้แก่เชื้อจุลินทรีย์ในกลุ่มแบคทีเรียแลคติก โดยเฉพาะเชื้อ Lactobacillus acidophilus และ Bifidobacterium spp. มีการนำจุลินทรีย์กลุ่มนี้มาผลิตอาหารหลายชนิด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นมหมัก ผักดอง และเนื้อหมัก และมีการผลิตในรูปของแคปซูลและเม็ดออกมาจำหน่ายตามท้องตลาด นอกจากนี้มีการนำไปใช้ในอาหารสัตว์เร่งการเจริญเติบและป้องกันการเกิดโรค
แบคทีเรียที่ดี มีประโยชน์ต่อเรานี้ อาศัยอยู่ในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ของเรา ตั้งแต่เราเกิดเป็นทารก ทำหน้าที่ช่วยย่อยอาหารและผลิตสารอาหารที่ดีมีประโยชน์ให้กับเรา ได้แก่ กรดอะมิโน กรดแลคติก พลังงาน ไวตามินเค ไวตามินบี และสารปฏิชีวนะธรรมชาติหลายชนิด  

ประโยชน์ต่อร่างกาย


1. กรดแลคติกที่แบคทีเรียผลิตออกมา จะทำให้สภาวะภายในลำไส้ มีความเป็นกรดมากพอที่จะยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรค
2. ทำให้ระบบขับถ่ายดี ไม่เกิดการหมักหมมของของเสียในร่างกาย เป็นการลดอัตราเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งตับ
3. ไวตามินบีที่ได้ จะทำให้เซลล์ในระบบภูมิต้านทานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และยังทำให้มีการผลิตเม็ดเลือดแดงดีขึ้นด้วย
4. ช่วยยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง และกำจัดสารก่อมะเร็งบางชนิด
5. แลคติกแอซิดแบคทีเรีย ยังช่วยลดระดับน้ำตาลและโคเลสเตอรอลในเลือดด้วย
6. นอกจากนี้ ยังผลิตเอนไซม์แลคเตส ซึ่งช่วยย่อยน้ำตาลในนม ทำให้เราไม่มีอาการท้องอืดจากการดื่มนม และช่วยให้การดูดซึมแคลเซียมดีขึ้น
ใช้ โปรไบโอติก หลังยาแก้อักเสบ
เมื่อคุณเป็นสิวยาตัวหนึ่งที่คุณอาจต้องใช้มันคือยาปฎิชี วนะหรือยาแก้อักเสบที่คุณทานมันเข้าไป ยาปฎิชีวนะที่เราทานเข้าไปจะให้ผลในทางลบกับลำไส้ของเราเหมือนกัน ยาปฎิชีวนะจะทำหน้าที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียซึ่งปัญหาคือมันจะไปฆ่าเชื้อ แบคทีเรียทั้งดีและไม่ดี หนึ่งในนั้นคือ โปรไบโอติก ที่คอยทำหน้าที่รักษาสมดุลของเชื้อโรค ช่วยเรื่องระบบย่อยอาหารและการดูดซึมสารอาหารเข้าไปตามระบบต่างๆของร่างกาย อีกทั้งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายดีขึ้น
เมื่อ โปรไบโอติก ในร่างกายลดลงจากการทานยาปฎิชีวนะเข้าไป อาการเช่น ท้องเสีย ท้องร่วง โรคเกี่ยวกับลำไส้ก็จะตามมา

คุณสามารถเพิ่ม โปรไบโอติก ได้ด้วย 3 วิธีง่ายๆนี้


1. ทานอาหารที่ช่วยให้ โปรไบโอติกเติบโต โดยการรับประทานอาหารจำพวก ชีสต์ โยเกิร์ต ถั่ว, แอปเปิ้ล, เบอร์รี่, ไวน์แดง, ชา และอาหารเผ็ดร้อน (ไม่มาก)
2. ลดความเครียด จากการวิจัยrพบว่า ภาวะความเครียดเรื้อรัง ซึ่งทำให้เกิดโรคลำไส้ระคายเคือง และในที่สุดก็ทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ การลดความเครียดจะช่วยให้แบคทีเรียโปรไบโอติก ที่มีประโยชน์นั้นเจริญเติบโตขึ้นและสามารถช่วยกำจัดสิวที่ลุกลามได้อีกด้วย
3. รับประทาน โปรไบโอติก ในปริมาณที่พอเหมาะ
 เภสัชกรและผู้ให้คำแนะนำการใช้อาหารเสริม สนับสนุนคำกล่าวของ Dr.Author Presser ว่าแบคทีเรียที่จำเป็นต่อลำไส้คือ Bifidobacteria, Lactobacillus Acidophilus, Rhamnosus, Plantrarum, Bulgaricus, Streptococcus Faecium และ Streptococcus Thermophilus
ด๊อกเตอร์ Presser แนะนำให้รับประทานอาหารเสริม Probiotic ที่มีส่วนประกอบของแบคทีเรียทั้งเจ็ดนี้ ในหนังสือของเขา" The Nature Pharmacist’s Vitamin Primer" ด๊อกเตอร์ชี้ให้ดูที่ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ FOS, Fructooligosacchrides ด๊อกเตอร์อธิบายเกี่ยวกับ FOS ว่าเป็นน้ำตาลที่พบได้ในผลไม้, ผัก และธัญพืช





วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

น้ำหมักแก๊สชีวภาพ


           น้ำหมักชีวภาพ หรือ น้ำสกัดชีวภาพ หรือ ปุ๋ยน้ำจุลินทรีย์ ตามแต่จะเรียก เป็นสารละลายเข้มข้นที่ได้จากการหมักเศษพืช หรือสัตว์ กับสารที่ให้ความหวาน จนถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการแล้วจะได้สารละลายเข้มข้นสีน้ำตาล ประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ และสารอินทรีย์หลายชนิด 


          


     เดิมทีนั้นจุดประสงค์ของการคิดค้น "น้ำหมักชีวภาพ" ขึ้นมา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตรโดยเฉพาะ แต่ช่วงหลังก็มีการนำน้ำหมักชีวภาพ มาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในด้านอื่นเช่นกัน คือด้านการเกษตร น้ำหมักชีวภาพ มีธาตุอาหารสำคัญ ทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม แคลเซียม กำมะถัน ฯลฯ จึงสามารถนำไปเป็นปุ๋ย เร่งอัตราการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มคุณภาพของผลผลิตให้ดีขึ้น และยังสามารถใช้ไล่แมลงศัตรูพืชได้ด้วย


  • ด้านปศุสัตว์ สามารถช่วยกำจัดกลิ่นเหม็น น้ำเสียจากฟาร์มสัตว์ได้ ช่วยป้องกันโรคระบาดต่าง ๆ ในสัตว์แทนการให้ยาปฏิชีวนะ ทำให้สัตว์แข็งแรง มีความต้านทานโรค ช่วยกำจัดแมลงวัน ฯลฯ



  • ด้านการประมง ช่วยควบคุมคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ช่วยแก้ปัญหาโรคพยาธิในน้ำ  ช่วยรักษาโรคแผลต่าง ๆ ในปลา กบ จระเข้ได้ ช่วยลดปริมาณขี้เลนในบ่อ ช่วยให้เลนไม่เน่าเหม็น สามารถนำไปผสมเป็นปุ๋ยหมักใช้กับพืชต่าง ๆ ได้ดี



  • ด้านสิ่งแวดล้อม น้ำหมักชีวภาพ สามารถช่วยบำบัดน้ำเสียจากการเกษตร ปศุสัตว์ การประมง โรงงานอุตสาหกรรม ชุมชน และสถานประกอบการทั่วไป แถมยังช่วยกำจัดกลิ่นเหม็นจากกองขยะ การเลี้ยงสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชนต่าง ๆ นอกจากนี้ยังช่วยปรับสภาพอากาศที่เสียให้สดชื่น และมีสภาพดีขึ้น


          ประโยชน์ในครัวเรือน เราสามารถนำน้ำหมักชีวภาพ มาใช้ในการซักล้างทำความสะอาด แทนสบู่ ผงซักฟอก แชมพู น้ำยาล้างจาน รวมทั้งใช้ดับกลิ่นในห้องน้ำ โถส้วม ท่อระบายน้ำ ฯลฯ ได้ด้วย

          เห็นประโยชน์ใช้สอยของ น้ำหมักชีวภาพ มากมายขนาดนี้ ชักอยากลองทำน้ำหมักชีวภาพดูเองแล้วใช่ไหมล่ะ จริง ๆ แล้ว น้ำหมักชีวภาพ มีหลายสูตรตามแต่ที่ผู้คิดค้นขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยต่าง ๆ กัน วันนี้เราก็มี วิธีทำ น้ำหมักชีวภาพ แบบง่าย ๆ มาฝากกันด้วย

วิธีทำ น้ำหมักชีวภาพ เพื่อการเกษตร

          เราสามารถเลือกส่วนผสมจาก พืช ผลไม้สุก หรือสัตว์ อย่างหอยเชอรี่ ในการทำน้ำหมักชีวภาพ ได้

          ส่วนผสม : เราสามารถเลือกส่วนผสมจาก พืช ผลไม้สุก หรือสัตว์ อย่างหอยเชอรี่ อย่างใดอย่างหนึ่ง ในการทำน้ำหมักชีวภาพ โดยสับเป็นชิ้นเล็ก 3 ส่วน, กากน้ำตาล 1 ส่วน (อาจใช้น้ำตาลทรายแดง หรือน้ำตาลทรายขาว ผสมน้ำมะพร้าว 1 ส่วนแทนได้) น้ำเปล่า 10 ส่วน

          วิธีทำ : นำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้ากัน แล้วบรรจุลงในถังหมักพลาสติก หรือขวดปิดฝาเก็บไว้ในที่ร่ม นานประมาณ 3 เดือน แล้วจึงสามารถนำไปใส่เป็นปุ๋ยให้พืชผักผลไม้ได้ โดย

           ใช้น้ำหมักชีวภาพ อัตราส่วน 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อบำรุงใบพืชผักผลไม้

           ใช้น้ำหมักชีวภาพอัตราส่วน 15-20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ให้ดินร่วนซุย

           ใช้น้ำหมักชีวภาพ อัตราส่วน 1 ส่วน น้ำ 1 ส่วน เพื่อกำจัดวัชพืช

          ทั้งนี้ มีเทคนิคแนะนำว่า หากต้องการบำรุงส่วนใบพืช ก็ให้ใช้ส่วนใบยอดพืชมาหมัก หากต้องการบำรุงผล ให้ใช้ส่วนผล เช่น กล้วยน้ำว้าสุก มะละกอสุก เปลือกสับปะรด ฟักทองมาหมัก หรือหากต้องการใช้กำจัดศัตรูพืข ควรหมักสะเดา ตะไคร้หอม ข่า แยกต่างหากด้วย เมื่อจะใช้ก็นำมาผสมฉีดพ่นพืชผักผลไม้

          นอกจากนี้ หากใช้สายยางดูดเฉพาะน้ำใส ๆ จากน้ำหมักชีวภาพที่หมักได้ 3 เดือนแล้วออกมา จะเรียกส่วนนี้ว่า "หัวเชื้อน้ำหมักชีวภาพ" เมื่อนำไปผสมอีกครั้ง แล้วหมักไว้ 2 เดือน จะได้หัวเชื้อน้ำหมักชีวภาพอายุ 5 เดือน ซึ่งหากขยายต่ออายุทุก ๆ 2 เดือน จะได้หัวเชื้อที่อายุมากขึ้นเรื่อย ๆ และประสิทธิภาพสูงมากขึ้น

วิธีทำ น้ำหมักชีวภาพ เพื่อการซักล้าง


          น้ำหมักชีวภาพ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการซักล้างได้ โดยมีสูตรให้นำผลไม้ เปลือกผลไม้ (ฝักส้มป่อย , มะคำดีควาย , มะนาว ฯลฯ) 3 ส่วน น้ำตาลทรายแดงหรือน้ำตาลอ้อย 1 ส่วน และน้ำ 10 ส่วน ใส่รวมกันในภาชนะที่มีฝาปิดสนิท โดยให้เหลือช่องว่างไว้ประมาณ 1 ใน 5 ของขวด/ถัง แล้วหมั่นเปิดฝาคลายแก๊สออก โดยต้องวางไว้ในที่ร่ม อย่าให้ถูกแสงแดด หมักไว้นาน 3 เดือน ก็จะได้น้ำหมักชีวภาพ สำหรับซักผ้า หรือล้างจานได้ ซึ่งสูตรนี้แม้ว่าผ้าจะมีราขึ้น หากนำผ้าไปแช่ทิ้งไว้ในน้ำหมักชีวภาพก็จะสามารถซักออกได้



วิธีทำ น้ำหมักชีวภาพ เพื่อดับกลิ่น



          สูตรหนึ่งของการทำน้ำหมักชีวภาพมาดับกลิ่น คือ ใช้เศษอาหาร พืชผัก ผลไม้ที่เหลือทิ้ง 3 ส่วน กากน้ำตาลหรือโมลาส 1 ส่วน และน้ำ 10 ส่วน  ใส่รวมกันในภาชนะที่มีฝาปิดสนิท โดยให้เหลือช่องว่างไว้ประมาณ 1 ใน 5 ของขวด/ถัง หมักไว้นาน 3 เดือน ก็จะได้น้ำหมักชีวภาพใช้ดับกลิ่นในห้องน้ำ โถส้วม ท่อระบายน้ำ กลิ่นปัสสาวะสุนัข ฯลฯ ได้อย่างดี


ข้อควรระวังในการใช้ น้ำหมักชีวภาพ

           1. หากใช้น้ำหมักชีวภาพกับพืช ต้องใช้ปริมาณเจือจาง เพราะหากความเข้มข้นสูงเกินไป อาจทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต และตายได้

           2. ระหว่างหมัก จะเกิดก๊าซต่าง ๆ ในภาชนะ ดังนั้นต้องหมั่นเปิดฝาออก เพื่อระบายแก๊ส แล้วปิดฝากลับให้สนิททันที

           3. หากใช้น้ำประปาในการหมัก ต้องต้มให้สุก เพื่อไล่คลอรีนออกไปก่อน เพราะคลอรีนอาจเป็นอันตรายต่อจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมัก

           4. พืชบางชนิด เช่น เปลือกส้ม ไม่เหมาะในการทำน้ำหมักชีวภาพ เพราะน้ำมันที่เคลือบผิวเปลือกส้มเป็นพิษต่อจุลินทรีย์


น้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค


          เราอาจเคยได้ยินข่าวว่า มีคนนำน้ำหมักชีวภาพมาใช้บริโภคกันด้วย ซึ่งน้ำหมักชีวภาพที่ใช้ในการบริโภค หรือ เอนไซม์ เป็นสารโปรตีน วิตามินเอ บี ซี ดี อี เค อะมิโนแอซิค(Amino acid) และ อะเซทิลโคเอ (Acetyl Coa) ที่ได้จาก หมักผลไม้นานาชนิด เมื่อหมักระยะเริ่มแรกจะเป็นแอลกอฮอล์ ระยะต่อมา เป็นน้ำส้มสายชู ซึ่งมีรสเปรี้ยว อีกระยะหนึ่งเป็นยาธาตุ มีรสขม ก่อนจะได้เป็นน้ำหมักชีวภาพ (เอ็นไซม์) ซึ่งใช้เวลาหมักขยายประมาณ 2 ปี แต่หากจะนำไปดื่มกินควรผ่านการหมักขยายเป็นเวลา 6 ปีขึ้นไป

          โดยประโยชน์จากน้ำหมักชีวภาพนั้น หากมีการนวัตกรรมการผลิตที่ดีจะส่งผลดีต่อสุขภาพของระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ทำให้ภูมิต้านทานโรคดีขึ้น และช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ แต่น้ำหมักชีวภาพ ที่ขายอยู่ตามท้องตลาด มักเป็นน้ำหมักชีวภาพที่อยู่ในสภาพเป็นแอลกอฮอล์ ดังนั้นเมื่อดื่มกินแล้วอาจมีอาการร้อนวูบวาบ มึนงง และอาจทำให้ฟันผุกร่อนได้ เพราะน้ำหมักชีวภาพ (เอนไซม์) มีสภาพเป็นกรดสูง ดังนั้นจึงไม่ควรดื่มน้ำหมักชีวภาพแบบเข้มข้น

          อย่างไรก็ตาม การทำน้ำหมักชีวภาพ ที่ใช้บริโภคนั้น ยังขาดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับ หากดื่มกินเข้าไปก็เสี่ยงต่ออันตรายได้ โดยเฉพาะมีข้อมูลจาก สวทช. ร่วมกับ อย.ที่ได้เก็บตัวอย่างของผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพที่วางขายตามท้องตลาดมาตรวจสอบ พบว่า น้ำหมักชีวภาพเหล่านี้ แม้จะไม่มีการปนเปื้อนของโลหะ เศษไม้ เศษดิน แต่พบการปนเปื้อนของเชื้อรา ยีสต์ เมทิลแอลกอฮอล์ เอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งส่งผลต่อระบบประสาทและตา โดยเฉพาะเมทานอล หรือเมธิลแอลกอฮอล์ที่ทำอันตรายต่อร่างกายได้

          ดังนั้นแล้ว เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา รวมทั้งต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้ผลิต แหล่งผลิต และบรรจุภัณฑ์หีบห่อด้วย แต่ถ้าหากจะนำ "น้ำหมักชีวภาพ" มาใช้ในครัวเรือน หรือการเกษตร ลองทำง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ก็จะปลอดภัยและประหยัดที่สุด






ที่มา : http://hilight.kapook.com/view/50873





ถังหมักแก๊สชีวภาพ


       

          ก๊าซชีวภาพ (อังกฤษ: Biogas หรือ digester gas) หรือ ไบโอก๊าซ คือ ก๊าซที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการหมักย่อยสลายของสารอินทรีย์ภายใต้สภาวะที่ปราศจากออกซิเจน(anaerobic digestion) โดยทั่วไปจะหมายถึง ก๊าซ มีเทน ที่เกิดจาก การหมัก (fermentation) ของ สารอินทรีย์ โดยกระบวนการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในหลุมขยะ กองมูลสัตว์ และก้นบ่อแหล่งน้ำนิ่ง กล่าวคือเมื่อไหร่ก็ตามที่มีสารอินทรีย์หมักหมมกันเป็นเวลานานก็อาจเกิดก๊าซชีวภาพ แต่นี่เป็นเพียงแค่หลักการทางทฤษฏี
          องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นแก๊สมีเทน(CH4) ประมาณ 50-70% และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2)ประมาณ 30-40% ส่วนที่เหลือเป็นแก๊สชนิดอื่น ๆ เช่น ไฮโดเจน(H2) ออกซิเจน(O2) ไฮโดรเจนซัลไฟด์(H2S) ไนโตรเจน(N) และไอน้ำ

        ก๊าซชีวภาพมีชื่ออื่นอีกคือ ก๊าซหนองน้ำ และ มาร์ชก๊าซ (marsh gas) ขึ้นกับแหล่งที่มันเกิด กระบวนการนี้เป็นที่นิยมในการเปลี่ยน ของเสีย ประเภทอินทรีย์ทั้งหลายไปเป็นกระแสไฟฟ้า นอกจากกำจัดขยะได้แล้วยังทำลาย เชื้อโรค ได้ด้วย การใช้ก๊าซชีวภาพเป็น การบริหารจัดการของเสีย ที่ควรได้รับการสนับสนุนเพราะไม่เป็นการเพิ่มก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ ในชั้นบรรยากาศที่เป็นต้นเหตุของ ปรากฏการณ์เรือนกระจก(greenhouse effect) ส่วนการเผาไหม้ ก๊าซชีวภาพ ซึ่งมีก๊าซมีเทนเป็นส่วนประกอบหลักจะสะอาดกว่า


อุปกรณ์

1. ถังพลาสติกขนาดบรรจุ 200 ลิตร 1 ใบ พร้อมฝาปิด 
2. ถังพลาสติกขนาดบรรจุ 200 ลิตร 1 ใบ เปิด
3. ถังพลาสติกขนาดบรรจุ 180 ลิตร 1 ใบ
4. ท่อ PVC ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2  นิ้ว 
5. ข้อต่อท่อ PVC  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2  นิ้วเกลียวนอกและเกลียวใน จำนวน 4 ตัว ข้อต่องอ 1 ตัว
6. ท่อ PVC 4 เกลียวนอกเกลียวใน วาวเปิด-ปิด
7. ท่อยางน้ำสายอ่อน
8. กาวซิลิโคน


หลักการทำงาน




วิธีทำถังหมักแก๊ส


1. เจาะถังด้านบนเพื่อใส่มูลโค ท่อ PVC ขนาด 2 นิ้ว ยาวเกือบถึงก้นถัง ด้านบนที่เติมมีฝาปิด เพื่อใส่เศษอาหารแต่ละมื้อ กับช่องประคองแกนกวนปฏิกูล
2.  เจาะถังด้านข้างถัง ขนาด 2 นิ้ว เพื่อให้สิ่งปฏิกูลที่ย่อยสลายแล้วไหลออกและใช้ข้อต่องอสูงขึ้นบน
3. เจาะรูถังด้านบน ขนาด 4 หุน ใส่วาวปิดปิดด้านบนเพื่อนำแก๊สไปใช้หรือเก็บ
4. ถังสำหรับใส่สิ่งปฏิกูล เป็นถังหูหิ่ว 
5. สายยางอ่อนเพื่อใช้ต่อสายไปใช้และเก็บ
วิธีทำถังเก็บแก๊ส
1. นำถัง 200 ลิตร เปิดฝาและใส่น้ำให้เต็ม
2. ใช้ถัง 180 ลิตร เปิดฝาและคว้ำลงในถังแรก
3. เจาะรูก้นถัง 180 ลิตร 1 รู เพื่อใช้แก๊สและเก็บ
วิธีหมักมูลสัตว์ที่ทำให้เกิดแก๊ส 
1. ใช้มูลโคสด ผสมกับน้ำเปล่าอัตราส่วนผสมครั้งแรก น้ำเปล่า 35 ลิตร/มูลโคสด 35 ลิตร ผสมให้เข้ากัน  ใส่ครั้งต่อไปอาทิตย์ละ 1 ครั้ง อัตรา น้ำเปล่า 5 ลิตร/มูลโคสด 5 ลิตร ผสมกันให้เข้ากัน เปิดช่องทางระบายด้านข้างเพื่อให้ปฏิกูลส่วนเกินไหลออกมา ปริมาณ 1 กก. 
2. เกิดการย่อยสลาย สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยได้เป็นอย่างดี



 

ผลที่ได้รับ 


1. เป็นการส่งเสริมแนวความคิดในการประยุกต์ใช้พลังงาน และการใช้สิ่งปฏิกูลให้เกิดประโยชน์
2. ประยุกต์ใช้ในครัวเรือน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการใช้แก๊สหุงต้มในครัวเรือน ในระยะเวลา 3 ปี จะประหยัดกว่าการซื้อแก๊สขนาดบรรจุ 15 กก. คิดเป็นเงิน 1,800 - 2,300 บาท)






ปุ๋ยหมักชีวภาพ


ปุ๋ยหมักชีวภาพ คือ ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านกระบวนการหมักกับน้ำเอนไซม์ ช่วยในการปรับปรุงดิน ย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินให้เป็นอาหารแก่พืช

วัสดุทำปุ๋ยหมักชีวภาพ

  • น้ำเอนไซม์ 1 + น้ำตาล 1 + น้ำ 100
  • รดบนกองปุ๋ยแต่ละชั้นความชื้น 30%
  • แกลบสด 1 กิโลกรัม
  • แกลบดำ 1 กิโลกรัม
  • มูลสัตว์ต่าง ๆ กากถั่วต่าง ๆ ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว 3 กิโลกรัม
  • รำละเอียด 1 กิโลกรัม
  • ขยะสดต่าง ๆ 1 กิโลกรัม
  • อินทรียวัตถุที่หาได้ในพื้นที่ หญ้าแห้ง ฟาง ใบไม้ 1 กิโลกรัม



วิธีทำ

1. ผสมน้ำเอนไซม์ น้ำตาล และน้ำ ในถังพลาสติก แล้วใช้บัวรดน้ำตักรดทีละชั้น
2. เกลี่ยกองปุ๋ยหมักบนพื้นให้หนาประมาณ 1 ศอก คลุมด้วยกระสอบป่านหรือกระสอบปุ๋ย หรือคลุมด้วยแกลบสด หรือฟาง เพื่อไม่ให้ถูกแสงแดดประมาณ 5 วัน ตรวจดูความร้อนในวันที่ 2 หรือ 3 ไม่ต้องกลับกองปุ๋ย ถ้าปุ๋ยกองใหญ่มากใช้เวลา 20 วัน
3. บรรจุปุ๋ยหมักชีวภาพที่คลุกเคล้ากันดีแล้ว ในกระสอบปุ๋ย สามารถเก็บไว้นานเป็นปี
ปุ๋ยหมักชีวภาพที่ได้จะประกอบด้วยจุลินทรีย์ สารอินทรีย์ต่าง ๆ ที่มีสารอาหารเหมาะสำหรับพืชนำไปใช้ทันที ปุ๋ยหมักชีวภาพที่ดีจะมีกลิ่นหอม มีใยสีขาวของเชื้อรา ในระหว่างการหมักถ้าไม่เกิดความร้อนแสดงว่ามีข้อผิดพลาด อุณหภูมิในการหมักที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 40-50 องศาเซลเซียส ถ้าให้ความชื้นสูงเกินไป จะเกิดความร้อนนานเกินไป ฉะนั้นความชื้นที่ให้พอดีประมาณ 30%

วิธีใช้


1. ผสมปุ๋ยหมักชีวภาพกับดินในแปลงปลูกผักทุกชนิดในอัตรา 1 กิโลกรัมต่อ 1 ตารางเมตร
2. พืชผักอายุเกิน 2 เดือน เช่น กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว แตง ฟักทอง ควรใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพคลุกกับดินรองก้นหลุมก่อนปลูกกล้าผักประมาณ 2 กำมือ รดน้ำให้ชุ่ม ๆ
3. ไม้ผลควรรองก้นหลุมด้วยเศษหญ้า ใบไม้แห้ง ฟาง และปุ๋ยหมักชีวภาพ 1 กิโลกรัม สำหรับไม้ผลที่ปลูกแล้วใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ แนวทรงพุ่ม 2 กำมือต่อ 1 ตารางเมตร แล้วคลุมด้วยหญ้าแห้ง ใบไม้แห้ง ฟาง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
4. ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้กระถาง ควรใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ เดือนละ 1 ครั้งต่อ 1 กำมือ ใช้ 1 กิโลกรัม ต่อ 2x3 ตารางเมตร
ปุ๋ยหมักชีวภาพใช้เวลาสลายสารอาหารสำหรับพืชเร็วกว่าปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เมื่อใส่ลงดินที่มีความชื้นพอเหมาะ เชื้อจุลินทรีย์ที่ได้ปุ๋ยหมักชีวภาพจะทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินให้เป็นประโยชน์ต่อต้นไม้
จึงไม่จำเป็นต้องให้ในปริมาณมาก ๆ และในดินควรมีอินทรีย์วัตถุพวกปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หญ้าแห้ง ใบไม้แห้ง ฟาง และมีความชื้นเพียงพอ ต้นพืชจึงจะได้ประโยชน์เต็มที่จากการใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ
แต่ถ้าใส่ครั้งละมากเกินไปอาจทำให้ต้นไม้ตายได้ ส่วนจะให้ครั้งละปริมาณเท่าไร บ่อยครั้งเท่าไร เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้น กรุณาประมาณและสังเกตความเหมาะสมด้วย
ปุ๋ยดินหมักชีวภาพสำหรับเพาะต้นกล้า

วัสดุที่ใช้


1. ดินแห้งทุบให้ละเอียด ใช้ดินได้ทุกชนิด 5 ส่วน
2. ปุ๋ยคอกแห้งทุบละเอียด 2 ส่วน
3. แกลบดำ 2 ส่วน
4. รำละเอียด 2 ส่วน
5. ขุยมะพร้าวหรือขี้เค้กอ้อย 2 ส่วน
6. น้ำเอนไซม์ 1 + น้ำตาล 1 + น้ำ 100 คนให้เข้ากัน

วิธีทำ


1. ผสมวัสดุทั้งหมด คลุกเคล้าจนเข้ากันดี
2. รดด้วยน้ำเอนไซม์ที่ผสมแล้ว บนกองวัสดุให้ความชื้นพอประมาณ กำแล้วใช้นิ้วดีดแตก ไม่ให้แฉะเกินไป
3. เกลี่ยบนพื้นซีเมนต์ให้กองหนาประมาณ 1 ศอก คลุมด้วยพลาสติก หรือกระสอบป่าน หมักไว้ 5 วัน จึงนำไปใช้ได้
4. ปุ๋ยดินหมักชีวภาพที่ดีจะมีราสีขาวเกิขึ้น มีกลิ่นหอม สามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน ๆ

วิธีใช้


1. ผสมปุ๋ยดินหมักชีวภาพกับดินแห้งทุบละเอียดและแกลบดำอย่างละเท่า ๆ กัน คลุกจนเข้ากันดี เพื่อนำไปกรอกถุง หรือถาดเพาะกล้า หรือนำไปใส่ในแปลงสำหรับเพาะกล้า จะช่วยให้ได้ต้นกล้าที่เจริญเติบโตสมบูรณ์แข็งแรง
2. นำไปเติมในกระถางต้นไม้ดอกไม้ประดับได้ดี กระถางละ 2 กำมือ




ที่มา : http://www.ku.ac.th/e-magazine/march47/agri/puy.html

การโคลนนิ่ง


การโคลนนิ่ง  (Cloning)

           ความหมายของโคลนนิ่งในทางปศุสัตว์  คือ  การผลิตสัตว์ให้มีรูปร่างลักษณะแสดงออก  (phenotype)  และลักษณะพันธุกรรม  (genotype)  เหมือนกันทุกประการ  อาจทำไ้ด้โดยการตัดแบ่งตัวอ่อน  (embryo  splitting)  หรือการย้ายฝากนิวเคลียส  (nuclear  transfer)



 

 ประโยชน์ของการโคลนนิ่ง

               1.ด้านสาธารณสุข  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอย่างอื่น  เช่น  การย้ายฝากสารพันธุกรรม
               2.ด้านการเกษตร  สามารถเพิ่มจำนวนสัตว์ที่มีพันธุกรรมดี  โดยย้ายฝากนิวเคลียสจากเซลล์ตัวอ่อนที่มีพันธุกรรมดีเลิศหรือจากโซมาติกเซลล์ของสัตว์เต็มวัยที่พิสูจน์แล้วว่ามีพันธุกรรมและลักษณะที่แสดงออกเป็นที่ต้องการ  เช่น  โคที่ให้น้ำนมมาก  มีความต้านทานโรคสูง  เป็นต้น

วิธีการโคลนนิ่ง
               1.การตัดแบ่งตัวอ่อน  การตัดแบ่งตัวอ่อนเป็น  2  ส่วน  เท่าๆ  กัน  และนำไปย้ายฝากให้ตัวรับ  จะสามารถทำให้ผลิตลูกแฝดที่เหมือนกันทุกประการ  2  ตัว  จากตัวอ่อนใบเดียว  ในการตัดแบ่งตัวอ่อนจำเป็นต้องใช้เครื่องมือเฉพาะดำเนินการ คือ เครื่อง micromanipulator และใช้ไปเปตแก้วที่เรียวเล็กมาก (holding pipette) เพื่อดูดจับตัวอ่อน แล้วใช้เข็มขนาดเล็ก (microneedle) กดตัดแบ่งตัวอ่อน หรืออาจใช้ใบมีดขนาดเล็ก (microblade) เพื่อตัดแบ่ง
               ตัวอ่อนที่ใช้ตัดแบ่งอาจใช้ตัวอ่อนระยะมอรูล่าหรือบลาสโตซีสก็ได้  เมื่อตัดแบ่งแล้วก็นำไปย้ายฝากให้สัตว์ตัวรับ  ในการตัดแบ่งตัวอ่อนนั้นจะต้องตัดแบ่งตัวอ่อนออกเป็น  2  ส่วน  ที่สมมาตร  (symmetry)  กันพอดี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนอินเนอร์เซลล์แมส  (inner  cell  mass) ซึ่งในระยะบลาสโตซีสจะสามารถเห็นได้ แต่ระยะมอรูล่าอาจจะตัดแบ่งไม่ได้ส่วนที่สมมาตรกันจริง ๆ เพราะยังไม่มีส่วนอินเนอร์เซลล์แมส
               2.การย้ายฝากนิวเคลียส  การโคลนนิ่งโดยการย้ายฝากนิวเคลียสอาจใช้นิวเคลียสจากเซลล์ตัวอ่อน  ซึ่งเรียกว่า  เอ็มบริโอนิคเซลล์โคลนนิ่ง (embryonic cell cloning)  หรือใช้เซลล์ร่างกาย (somstic  cell)  เรียกว่าโซมาติกเซลล์โคลนนิ่ง (somatic cell clonig)

เซลล์ตัวให้ที่ใช้นิวเคลียส  (donor  cell) เพื่อการย้ายฝากนิวเคลียสจะได้จาก
               1.เซลล์ตัวอ่อนหรือบลาสโทเนียร์  จากตัวอ่อนระยะ  2  เซลล์ถึงระยะมอรูล่า ที่นำมาทำให้เซลล์แยกจากกันเป็นเซลล์เดี่ยว ๆ หรืออาจใช้เซลล์จากอินเนอร์เซลล์แมส ซึ่งจะเป็น embryonic stem cells ที่มีความสามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ทุกชนิดได้
               2.เซลล์ร่างกายหรือโซมาติกเซลล์จากสัตว์เต็มวัยหรือลูกอ่อน  เช่น  เซลล์ผิวหนัง  เซลล์เต้านม  เป็นต้น

วิธีการย้ายฝากนิวเคลียส

               ปัจจุบันจะใช้ oocyte ระยะ metaphase II ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ดึงเอานิวเคลียสออกแล้วเป็นเซลล์ตัวรับ (recipient cell) เพื่อรับการย้ายฝากนิวเคลียส ในโค กระบือ oocyte ที่ใช้เป็นเซลล์ตัวรับนี้สามารถหาได้โดยการดูดจาก follicle บนรังไข่ที่ได้จากโรงฆ่าสัตว์ หรือจากการทำการดูด oocyte โดยใช้เทคนิค ovum pick up (OPU) นอกจากนี้อาจได้จาก oocyte ที่ผ่านขบวนการเยงนอกร่างกายให้เจริญขึ้นถึงขั้นปฏิสนธิ (In Vitro Maturation : IVM)
               oocyte ที่เจริญถึงระยะ metaphase II และใช้เป็นเซลล์ตัวรับจะดูได้จากการมี first polar body เกิดขึ้น จากนั้นทำการดึงนิวเคลียสของ oocyte ที่จะใช้เป็นเซลล์ตัวรับออก โดยดูดหรือบีบ cytoplasm ส่วนที่อยู่ใกล้กับ polar body ซึ่งเป๋นตำแหน่งที่มีนิวเคลียสอยู่และสามารถตรวจสอบได้โดยการย้อมสีนิวเคลียสที่ดูดออกมาด้วยสีเฉพาะ เช่น Hoechst33342 เมื่อได้เซลล์ตัวรับแล้วก็ย้ายนิวเคลียสจากเซลล์ตัวให้ที่ต้องการและจัดเตรียมไว้แล้วให้แก่เซลล์ตัวรับ ทำโดยการโดเซลล์ตัวให้ด้วย micropipette แล้วแทงผ่าน zonapellucida ของเซลล์ตัวรับ แล้วปล่อยเซลล์ตัวให้ออก จากนั้นทำการเชื่อมส่วน cytoplasm ของเซลล์ตัวให้และตัวรับด้วยกระแสไฟฟ้า เรียกว่า electrofusion การกระตุ้นนี้จะทำให้มีการรวมตัวกันของนิวเคลียสและ cytoplasm ของทั้ง 2 ส่วน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการกระตุ้น oocyte (เซลล์ตัวรับ) ซึ่งเป็นการเลียนแบบธรรมชาติขณะเกิดการปฏิสนธิเมื่อ oocyte ถูกเจาะด้วยอสุจิ (sperm activation) นอกจากการเชื่อมต่อด้วยไฟฟ้าแล้ว อาจใช้เชื้อไวรัสหรือสารเคมีก็ได้แต่ได้ผลไม่ดีนัก
               มีลูกสัตว์หลายชนิดทั้งโค  แพะ  แกะ  หมู  กระต่าย  ที่เกิดจากการโคลนนิ่งโดยใช้เซลล์จากตัวอ่อน  แต่ไม่เคยมีลูกสัตว์ที่เกิดจากการโคลนนิ่งด้วยนิวเคลียสจากเซลล์ร่างกาย  จน  Wilmut  และคณะ  1997  ประสบความสำเร็จในการทำโคลนนิ่งให้เกิดแกะดอลลี่  (dolly)  ขึ้นด้วยเซลล์เต้านม  ซึ่งเป็นตัวเดียวที่เกิดจากจำนวนตัวอ่อนทั้งสิ้น  273  ตัวที่ได้จากการโคลนนิ่งโดยวิธีการเดียวกันจากการศึกษานี้
               หลังจากนั้นมีลูกโค แพะ หนูหลายตัวเกิดขึ้น ดดยการโคลนนิ่งจาก somatic cell ความสำเร็จของ somatic cell cloning ของแกะดอลลี่ อาจจะเนื่องจากนิวเคลียสของเซลล์ตัวให้ (เซลล์เต้านม) ที่ใช้ได้ผ่านการเลี้ยง (passages) ในหลอดทดลองหลายครั้งและทำให้เวลล์เหล่านั้นอยู่ในสภาวะพัก (quiescence) หรืออยู่ที่ระยะ G0 ของวงจรเซลล์ (cell cycle) ซึ่งเป็นระยะที่นิวเคลียสไม่มีการสร้าง mRNA คล้ายกับธรรมชาติของเซลล์ตัวอ่อนในระยะ 3 วันแรกหลังปฏิสนธิ

ขั้นตอนการโคลนนิ่งสัตว์