วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เด็กหลอดแก้ว ไอวีเอฟ (IVF : In Vitro Fertilisation)


     
          การถือกำเนิดครั้งแรกของเด็กหลอดแก้วในปี 1978 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการรักษาภาวะมีบุตรยากสมัยใหม่และอัตราการตั้งครรภ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม การปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (IVF) และการช่วยเหลือการเจริญพันธุ์อื่นๆได้ทำการรักษาอย่างแพร่หลายทั่วไปในปัจจุบัน และได้มีการปรับปรุงพัฒนาให้ได้ผลสำเร็จที่สูงขึ้นและมีค่าใช้จ่ายคุ้มค่ามากกว่าการรักษาด้วยการใช้วิธีการแบบพื้นฐานต่างๆเช่นการผ่าตัดแก้ไขท่อนำไข่

          การปฏิสนธิภายนอกร่างกายแบบดั้งเดิม (Conventional IVF) นั้นเป็นชื่อสำหรับวิธีการรักษาโดย Test tube baby (เด็กหลอดแก้ว) ซึ่งเป็นต้นกำเนิด หลักการรักษานั้นจะต้องนำอสุจิหยดลงไปบนจานเพาะเลี้ยงตัวอ่อนหรือหลอดทดลองที่บรรจุเซลล์ไข่ของฝ่ายหญิงอยู่ภายในนั้น การปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (IVF) แบบอื่นๆที่แตกต่างไปจากแบบดั้งเดิมนั้นก็จะมีวิธีการทำคล้ายๆกันนี้ แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนก่อนที่จะมีการย้ายตัวอ่อนกลับคืนให้

การคัดเลือกผู้ป่วย


         ผู้ที่เหมาะสมจะรับการรักษาด้วยวิธิการนี้ได้แก่ผู้ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์มานานกว่าสองปี และควรตัดสินใจเข้ารับการรักษาก่อนที่อายุของฝ่ายหญิงจะกลายมาเป็นอุปสรรคต่อการรักษาได้ ในบางกรณีอาจเนื่องมาจากจำเป็นต้องใช้เทคนิคอื่นๆร่วมด้วย เช่นในรายที่ไม่มีอสุจิจากการหลั่งปกติอาจต้องทำการผ่าตัดชิ้นเนื้อจากอัณฑะ (TESE) เพื่อนำตัวอสุจิจากเนื้อเยื่อที่ได้มาทำการปฏิสนธิกับไข่ หรือในรายที่มีจำนวนอสุจิน้อยมาก หรือได้อสุจิมาจากการทำ TESE อาจต้องทำการช่วยปฏิสนธิ (ICSI) ร่วมด้วย เป็นต้น สำหรับกรณีอื่นๆที่เหลือนั้นจำเป็นต้องตัดสินใจเข้ารับการรักษาเมื่อวิธีเด็กหลอดแก้วถูกเสนอเป็นทางเลือกแรกในการรักษา หรือเมื่อล้มเหลวจากการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆซึ่งซับซ้อนน้อยกว่ามาแล้ว

ปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่าการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการทำ IVF และเทคโนโลยีช่วยเหลือการเจริญพันธุ์ต่างๆนั้นได้ผลดีมากกว่าการรักษาการรักษาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากด้วยยาหรือการผ่าตัดแบบสมัยก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ผู้ป่วยถูกคัดเลือกมาเป็นอย่างดีว่ามีความเหมาะสมสำหรับวิธีการนั้นๆ การรักษาด้วย IVF นั้นได้มีการพัฒนาจนมาถึงจุดที่แพทย์สามารถเสนอให้เป็นทางเลือกแรกสำหรับการรักษาภาวะมีบุตรยากได้ เนื่องจากไม่มีสาเหตุใดที่เป็นข้อห้ามสำหรับการทำ ท้ายที่สุดแล้วการทำการรักษาด้วย IVF ยังเป็นเสมือนเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยสาเหตุของการมีบุตรยาก โดยจะช่วยให้สามารถมองเห็นกระบวนการเจริญเติบโตของตัวอ่อนแต่ละระยะได้เป็นอย่างดีที่สุดด้วย ดังนั้นจึงไม่เป็นเรื่องแปลกหากจะตรวจพบปัญหาที่ไม่ได้คาดหวังไว้ระหว่างการทำการรักษาด้วย IVF

การกระตุ้นไข่


        สามารถทำได้โดยการให้ Human chorionic gonadotrophin (hCG) ซึ่งจะไปเหนี่ยวนำให้เกิดการสุกสมบูรณ์ของเซลล์ไข่ โดยจะทำการฉีด hCG ให้เมื่อไข่โตได้ขนาดที่ต้องการ และจะสามารถทำการเจาะไข่ได้ภายใน 34 – 36 ชั่วโมงหลังนั้น

การกระตุ้นไข่ตก


      ในปัจจุบันการเจาะไข่ทางช่องคลอดร่วมกับอัลตร้าซาวด์นั้นเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และช่วยให้สามารถเก็บเอาเซลล์ไข่ออกมาได้มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการอื่นๆ โดยจำนวนครั้งที่เข็มเจาะผ่านเข้าไปในผิวรังไข่น้อยกว่า ซึ่งลดความเสี่ยงและการปริมาณเสียเลือดจากผิวรังไข่ที่ไหลออกมาสู่ช่องท้องได้มากกว่า

การตรวจอัลตร้าซาวด์ 


       วิธีการหลักในการตรวจติดตามการเจริญเติบโตของไข่นั้นทำได้โดยการตรวจอัลตร้าซาวด์ การตรวจอัลตร้าซาวด์ในครั้งแรกนั้นจะกระทำภายหลังจากเริ่มฉีดยากระตุ้นไข่ไปแล้ว 7 วัน และจะทำการตรวจซ้ำขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งในแต่ละครั้งที่ทำการตรวจ แพทย์จะตรวจดูรังไข่ทั้งสองข้างรวมทั้งมดลูก จำนวนของไข่ในรังไข่แต่ละข้างจะถูกตรวจสอบและวัดขนาด

การเจาะเก็บไข่


         เมื่อจะทำการเจาะเก็บไข่ จะมีการใช้ยาระงับความรู้สึกชนิดฉีดเข้าเส้นเลือดเพื่อให้หลับไปเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะทำการเจาะไข่ แพทย์จะทำการตรวจอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอดเพื่อให้มองเห็นรังไข่และอวัยวะในอุ้งเชิงกรานในระหว่างการเจาะไข่ และใช้เข็มเจาะไข่เจาะผนังช่องคลอดเข้าไปยังรังไข่ และดูดเอาเซลล์ไข่ออกมาสู่หลอดทดลอง เซลล์ไข่จะถูกนำออกมาทำความสะอาดในน้ำยาสำหรับเพาะเลี้ยง และจะถูกนำไปเก็บไว้ในตู้อบที่จะช่วยรักษาอุณหภูมิให้คงที่ที่ 37 องศาเซลเซียสตลอดเวลา

การเจาะไข่ผ่านทางช่องคลอดนั้นเป็นวิธีการที่ปลอดภัย ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บแต่อย่างใดและสามารถตื่นฟื้นคืนสติได้อย่างรวดเร็วหลังจากนั้น การเจาะไข่มักใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที และอาจนอนพักเป็นเวลาเพียงหนึ่งถึงสองชั่วโมงก่อนกลับบ้านในวันนั้น

การเก็บตัวอย่างเชื้ออสุจิ

         สามีของผู้ป่วยจะถูกขอให้ทำการเก็บตัวอย่างเชื้ออสุจิให้ ซึ่งจะกระทำในวันเดียวกับการเจาะไข่ น้ำอสุจิที่หลั่งออกมาได้จะถูกเก็บไว้ในภาชนะพลาสติกที่ไม่เป็นพิษต่ออสุจิและสะอาดปราศจากเชื้อโรค ตัวอย่างอสุจิที่เก็บได้จะถูกนำไปวิเคราะห์ก่อนนำไปเตรียมเพื่อการทำ IVF การเตรียมอสุจินั้นปัจจุบันสามารถทำได้หลายวิธี แต่ทุกวิธีมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ คัดกรองเอาน้ำอสุจิ ส่วนประกอบทางเคมี ตัวอสุจิที่ตายและผิดปกติ และเซลล์อื่นๆออกไปให้หมด ซึ่งจะคงเหลือไว้เพียงตัวอสุจิที่ปกติ มีชีวิต และเคลื่อนไหวได้ อยู่ในน้ำยาเพาะเลี้ยง

การให้ฮอร์โมน Progesterone เสริม

          เพื่อป้องกันการสร้างฮอร์โมน Progesterone ไม่เพียงพอ จึงได้มีการให์ฮอร์โมน Progesterone เสริม โดยจะเริ่มให้ในตอนเย็นในวันที่ทำการเจาะเก็บไข่หรือในเช้าวันรุ่งขึ้น ยาที่ใช้โดยทั่วไปจะใช้เหน็บเข้าไปยังช่องคลอด ซึ่งยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดต่อไป

การเหน็บยาฮอร์โมน Progesterone จะกระทำต่อเนื่องไปจนได้รับผลการตรวจการตั้งครรภ์ หากผลแสดงว่าไม่ตั้งครรภ์ก็จะหยุดการเหน็บยาได้ และรอบเดือนก็จะมาภายในสองสัปดาห์หลังจากนั้น แต่ถ้าหากผู้ป่วยตั้งครรภ์ ก็จะต้องทำการเหน็บยาต่อไปจนกระทั้งอายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์

ระยะในห้องปฏิบัติการของการรักษาด้วยวิธี IVF


  • ในวันที่มีการเจาะเก็บไข่

สามถึงหกชั่วโมงหลังจากการเจาะเก็บไข่ Embryologist จะนำอสุจิที่เตรียมแล้วไปหยดลงบนจานเพาะเลี้ยงซึ่งมีเซลล์ไข่อยู่ โดยมีการควบคุมปริมาตรของอสุจิให้เหมาะสม จำนวนของอสุจิที่จะหยดลงไปผสมกับไข่นั้นขึ้นอยู่กับค่าที่วัดได้จากการตรวจตัวอย่างน้ำอสุจิ หากมีค่าการตรวจที่ไม่ค่อยดีนัก Embryologist จะเพิ่มจำนวนตัวอสุจิให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิ


  • ในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่มีการเจาะเก็บไข่

จานเพาะเลี้ยงจะถูกนำออกมาจากตู้อบ เพื้อนำไปตรวจดูการปฏิสนธิ ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วจะถูกย้ายไปไว้ในจานเลี้ยงใบใหม่ซึ่งมีน้ำยาเพาะเลี้ยงใหม่และนำกลับเข้าสู่ตู้อบไว้ดังเดิม ไข่ใบที่ไม่ได้รับการปฏิสนธิและไข่ใบที่มีการปฏิสนธิผิดปกติจะถูกทิ้งไป และผู้ป่วยจะได้รับแจ้งถึงผลการปฏิสนธิ โดยปกติแล้วประมาณ 40 – 70% ของไข่จะได้รับการปฏิสนธิ


  • ในที่สองถึงวันที่ห้าหลังการเจาะไข่
ตัวอ่อนสามารถถูกย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกได้ตั้งแต่วันที่สองของการเจาะไข่ หรือสามารถย้ายกลับคืนในวันที่สาม วันที่สี่ หรือวันที่ห้า หลังการเจาะไข่ก็ได้ ในการศึกษาวิจัยในปัจจุบันพบว่าการย้ายตัวอ่อนกลับคืนสู่โพรงมดลูกในวันที่ห้าจะมีอัตราการตั้งครรภ์สูงกว่าการย้ายตัวอ่อนในวันอื่นๆทั้งหมด (Gardner et al.,1998a,b) ในวันที่สองไข่ที่ปฏิสนธิแล้วแต่ละใบนั้นควรจะมีการแบ่งเซลล์เป็นสองเซลล์ หรือ สี่เซลล์แล้ว แต่ละเซลล์จะยังคงอยู่ภายในเปลือกของไข่ เมื่อไข่ที่ปฏิสนธิแล้วมีการแบ่งเซลล์จำนวนมากขึ้นจะถูกเรียกว่าตัวอ่อน (Embryo) ประมาณ 90% ของไข่ที่ปฏิสนธิได้ควรจะเจริญเติบโตไปจนถึงระยะตัวอ่อน ตัวอ่อนจำนวนหนึ่งจะถูกคัดเลือกเพื่อการย้ายกลับคืนสู่โพรงมดลูก สำหรับตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีที่เหลือจะถูกนำไปแช่แข็งเก็บไว้ ตัวอ่อนที่คุณภาพไม่ดีจะไม่สามารถรอดชีวิตจากกระบวนการแช่แข็งและละลายออกมาใช้ได้ก็จะถูกทิ้งไป




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น