วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เทคโนโลยีชีวภาพกับการขยายพันธุ์สัตว์

ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการศึกษา และพัฒนาการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ ซึ่งหมายถึง การคัดเลือกและการปรับปรุงพันธุ์เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บก สัตว์น้ำ และสัตว์ปีก เช่น โค กระบือ สุกร เป็ด ไก่ และปลา มีการนำเทคโนโลยีด้านการผสมเทียม การถ่ายฝากตัวอ่อน การโคลนนิ่ง พันธุวิศวกรรม เพื่อปรับปรุงสัตว์ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ มีการเพิ่มปริมาณสัตว์ด้วยการใช้ฮอร์โมนหรือสารกระตุ้นความสมบูรณ์พันธุ์และอัตราการเจริญเติบโตของสัตว์บางประเภท เช่น โค กระบือ และการนำเทคโนโลยีชีวภาพในด้านต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม อาหาร และการแพทย์ ปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ได้กระทำไปแล้วนั้นส่งผลให้ผลผลิตด้านเกษตรกรรมเกี่ยวกับสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ประเทศไทยมีผลผลิตเหล่านี้เพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภคอย่างเพียงพอ ไม่ประสบปัญหาการขาดแคลนอาหาร และยังสารมารถส่งเป็นสินค้าออกที่สำคัญของประเทศไทยได้อีกด้วย ทำให้ประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น มีเงินที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ได้

เทคโนโลยีชีวภาพ หมายถึง การนำเอาสิ่งมีชีวิตหรือชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิตมาปรับปรุง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีประโยชน์เพิ่มขึ้น การขยายพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์ และเพิ่มผลผลิตของสัตว์โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพมีหลายวิธี เช่น การผสมเทียม การถ่ายฝากตัวอ่อน การโคลนนิ่ง พันธุวิศวกรรม

1. การผสมเทียม (Artificial Insemination)
การผสมเทียม คือ การทำให้เกิดการปฏิสนธิในสัตว์โดยไม่ต้องมีการร่วมเพศตามธรรมชาติ โดยมนุษย์เป็นผู้ฉีดน้ำเชื้อของสัตว์ตัวผู้เข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของสัตว์ตัวเมียที่กำลังเป็นสัด เพื่อให้อสุจิผสมกับไข่ทำให้เกิดการปฏิสนธิ ซึ่งเป็นผลให้ตัวเมียตั้งท้องขึ้น

การผสมเทียมสามารถทำได้ทั้งในสัตว์ที่มีการปฏิสนธิภายใน ได้แก่ โ กระบือ สุกร และสัตว์ที่มีการปฏิสนธิภายนอก ได้แก่ ปลาที่มีการปฏิสนธิภายนอก เช่น ปลาตะเพียนขาว ปลาสวาย ปลานิล ปลายี่สก ปลาดุก ปลาบึก เป็นต้น

1.1 การผสมเทียมโค กระบือ และสุกร
1.) การรีดเก็บน้ำเชื้อ โดยการใช้เครื่องมือช่วยกระตุ้นให้ตัวผู้หลั่งน้ำเชื้อออกมา แล้วรีดเก็บน้ำเชื้อเอาไว้ ซึ่งต้องคำนึงถึงอายุ ความสมบูรณ์ของตัวผู้ รวมทั้งระยะเวลาที่เหมาะสมและวิธีการซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์นั้นเอง

2.) การตรวจคุณภาพน้ำเชื้อ น้ำเชื้อที่รีดมาจะมีการตรวจดูปริมาณของตัวอสุจิและการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจดูว่าตัวอสุจิมีความแข็งแรงและมีปริมาณมากพอที่จะนำไปใช้งานหรือไม่

3.) การละลายน้ำเชื้อ โดยการนำน้ำยาเลี้ยงเชื้อเติมลงไปในน้ำเชื้อเพื่อเลี้ยงตัวอสุจิ และช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเชื้อ เพื่อให้สามารถนำไปแบ่งฉีดให้กับตัวเมียได้หลาย ๆ ตัว

สารที่เติมลงไปในน้ำเชื้อ ได้แก่

1. ไข่แดง เพื่อเป็นอาหารของตัวอสุจิ

2. โซเดียมซิเตรต เพื่อรักษาความเป็นกรด-เบส

3. สารปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำเชื้อ

มีขั้นตอนดังนี้

4.) การเก็บรักษาน้ำเชื้อ มี 2 แบบ คือ

4.1 น้ำเชื้อสด หมายถึง น้ำเชื้อที่ละลายแล้วนำไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4-5 °C ซึ่งจะเก็บได้นานเป็นเดือน แต่ถ้าเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 15-20 °C จะเก็บได้นาน 4 วัน

4.2 น้ำเชื้อแช่แข็ง หมายถึง น้ำเชื้อที่นำมาทำให้เย็นจัดจนแข็งตัว แล้วจึงนำไปเก็บรักษาไว้ในไนโตรเจนเหลวที่มีอุณหภูมิ 1-96 °C ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้นานเป็นปี

5.) การฉีดน้ำเชื้อ จะฉีดให้แม่พันธ์ที่ได้รับการคัดเลือกและต้องอยู่ในวัยที่ผสมพันธุ์ได้ ถ้าเป็นโคต้องมีอายุประมาณ 18 เดือน กระบือต้องมีอายุประมาณ 3 ปี และสุกรต้องมีอายุประมาณ 10 เดือน

การฉีดน้ำเชื้อควรฉีดในช่วงระยะเวลาที่สัตว์ตัวเมียกำลังแสดงอาการเป็นสัด ซึ่งเป็นช่วงที่ไข่สุก รอบของการเป็นสัดของโค กระบือ และสุกรจะเกิดขึ้นทุก ๆ 21 วัน ระยะเวลาการเป็นสัดของโค กระบือจะนานประมาณ 1 วัน แต่ถ้าเป็นสุกรจะนานประมาณ 3-4 วัน

ข้อดีของการผสมเทียมพวกโค กระบือ และสุกร มีดังนี้

1. ได้สัตว์พันธุ์ดีตามต้องการ

2. ประหยัดพ่อพันธุ์โดยการนำน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์มาละลายน้ำยาสำหรับละลายน้ำเชื้อ ซึ่งทำให้สามารถนำมาฉีดให้แก่แม่พันธุ์ได้เป็นจำนวนมาก

3. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูพ่อพันธุ์หรือการสั่งซื้อพ่อพันธุ์

4. สามารถผสมพันธุ์กันได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงขนาดตัวและน้ำหนักของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์

5. ตัดปัญหาเรื่องการขนส่งพ่อพันธุ์ไปผสมในที่ต่าง ๆ โดยเพียงแต่นำน้ำเชื้อไปเท่านั้น

6. สามารถควบคุมให้สัตว์ตกลูกได้ตามฤดูกาล สามารถป้องกันโรคติดต่อจากการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ และยังแก้ปัญหาการติดลูกยากในกรณีที่มีความผิดปรกติของระบบสืบพันธุ์ของแม่พันธุ์ได้อีกด้วย

1.2 การผสมเทียมปลา
การผสมเทียมปลา มีวิธีการดังนี้

1.) คัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาที่สมบูรณ์ มีน้ำเชื้อดีและมีไข่มากจากปลาที่กำลังอยู่ในวัยผสมพันธุ์ได้

2.) ฉีดฮอร์โมนให้แม่ปลา เพื่อเร่งให้แม่ปลามีไข่สุกเร็วขึ้น ฮอร์โมนที่ฉีดนี้ได้จาการนำต่อมใต้สมองของปลาพันธุ์เดียวกันซึ่งเป็นเพศใดก็ได้ นำมาบดให้ละเอียดแล้วผสมน้ำกลั่นฉีดเข้าที่บริเวณเส้นข้างลำตัวของแม่ปลา

3.) หลังจากฉีดฮอร์โมนให้แม่ปลาแล้วประมาณ 5-12 ชั่วโมง แล้วแต่ชนิดและน้ำหนักของแม่ปลา ต่อจากนั้นจึงรีดไข่และน้ำเชื้อจากแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์ที่เลือกไว้ใส่ภาชนะใบเดียวกัน

4.) ใช้ขนไก่คนไข่กับน้ำเชื้อเบา ๆ เพื่อคลุกเคล้าให้ทั่ว แล้วใส่น้ำให้ท่วม ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 นาที จึงถ่ายทิ้งประมาณ 1-2 ครั้ง

5.) นำไข่ที่ผสมแล้วไปพักในที่ที่เตรียมไว้ ซึ่งต้องเป็นที่ที่มีน้ำไหลผ่านตลอดเวลา เพื่อให้ไข่ลอยและป้องกันการทับถมของไข่ ทิ้งไว้จนกระทั่งไข่ปลาฟักออกเป็นลูกปลาในเวลาต่อมา

2. การถ่ายฝากตัวอ่อน (Embryo Transfer)

2.1 การถ่ายฝากตัวอ่อนในสัตว์

การถ่ายฝากตัวอ่อน คือ การนำตัวอ่อนที่เกิดจากการผสมระหว่างตัวอสุจิของพ่อพันธุ์และไข่ของสัตว์แม่พันธุ์ที่คัดเลือกไว้ แล้วล้างเก็บออกมาจากมดลูกของแม่พันธุ์ ต่อจากนั้นนำไปฝากใส่ไว้ให้เติบโตในมดลูกของตัวเมียอีกตัวหนึ่งให้อุ้มท้องไปจนคลอด
การถ่ายฝากตัวอ่อนนิยมทำกับสัตว์ที่มีการตกลูกครั้งละ 1 ตัว และมีระยะเวลาตั้งท้องนาน เช่น โค กระบือ แต่ไม่นิยมทำการถ่ายฝากตัวอ่อนกับสุกร เพราะสุกรสามารถมีลูกได้ง่ายครั้งละหลายตัว และมีระยะเวลาตั้งท้องไม่นาน 

2.3 ประโยชน์ของการถ่ายฝากตัวอ่อน
การถ่ายฝากตัวอ่อนมีประโยชน์ดังนี้

1. ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาเท่าเดิม ซึ่งสามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็วกว่าการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติหรือการผสมเทียม

2. ขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก

3. ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขยายพันธุ์สัตว์

4. ช่วยในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ที่ใกล้สูญพันธุ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น